กยท.เร่งแก้ไขปัญหาราคายาง สั่งจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แจงสถานการณ์ยางพาราที่ผ่านมา และแนวทางการจัดการของ กยท. หลังจากที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาราคายางพาราในปัจจุบัน ว่า กยท. ให้ความสำคัญ และติดตามสถานการณ์ราคายางปัจจุบันอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้ดำเนินกิจกรรมโครงการตามแผนงานแก้ไขปัญหาราคายางผันผวน และการสร้างเสถียรภาพด้านราคา โดยระดับราคายางในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่ผ่านมา ราคายางในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด โดยราคายางแผ่นรมควันในตลาดกลาง 3 ตลาดหลัก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 52.07 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.55 ขณะที่ราคาเฉลี่ยตลาดโตเกียว อยู่ที่ 58.94 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง ร้อยละ 8.69 ตลาดเซี่ยงไฮ้ อยู่ที่ 66.63 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.17 และตลาดไซคอม อยู่ที่ 58.12 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.61
ทั้งนี้ สถานการณ์ยางพาราในประเทศที่มีปริมาณยางมากขึ้นในช่วงเดือนนี้ เพราะในหลายพื้นที่ปลูกยางมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งมีส่วนกดดันราคา พบว่า ราคารับซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ หน้าโรงงานของผู้ประกอบการ เฉลี่ยอยู่ที่ 48.00 – 48.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ กยท. และ บ.ร่วมทุนฯ ได้พยายามเข้าไปซื้อในราคาสูงขึ้น เพื่อสร้างราคาอ้างอิงสำหรับการซื้อขายนอกตลาดแต่ขณะเดียวกัน กยท. ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในทุกพื้นที่เพื่อเป็นสายตรวจยางพารา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการเจรจาหารือกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีรวมทั้ง กยท. ได้เร่งผลักดันให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาเป็นเครือข่ายตลาดกลางยางพารา เพื่อจะได้ซื้อขายผลผลิตในราคาเดียวกันกับราคาตลาดกลาง กยท. ที่ประกาศ แนวทางต่างๆ นี้ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางให้คงที่และไม่ตกต่ำตามสภาวะตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“การจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้ถือหุ้น คือ 5 บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ และ กยท. ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขเสถียรภาพราคาซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ได้มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป้าหมายในเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพาราการยางแห่งประเทศทั้ง 6 ตลาดหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้น โดยที่ประชุมของบริษัทร่วมทุนฯ ครั้งล่าสุดได้มีมติให้บริษัทผู้ถือหุ้น ดำเนินการขนย้ายยางออกจากตลาดโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีบริษัทผู้ถือหุ้นรับซื้อไปแล้วบางส่วน และบางส่วนได้ดำเนินการอัดก้อนเก็บไว้ ณ โกดังของบริษัทผู้ถือหุ้น” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
ดร.ธีธัช กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการ AETS (การกำหนดโควตาส่งออก)ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ITRC ครั้งที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการนี้ จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อสภาวะราคาปรับลดลงในระดับหนึ่ง
โดยมีบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) ที่มีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งสามประเทศเป็นหุ้นส่วน คอยติดตามและประเมินสถานการณ์ราคายางอย่างใกล้ชิด หากมีความผันผวน ผิดปกติ จะเชิญประเทศสมาชิกประชุมเร่งด่วนเพื่อขอความเห็นชอบต่อไปส่วน “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท” ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยพร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการฯ วงเงิน 15,000 ล้านบาท อีกโครงการหนึ่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ต.ค.60 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้