การประชุมปฐมนิเทศโครงการ การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สาย บ.ป่าคลอก – บ.บางคู จ.ภูเก็ต
การประชุมปฐมนิเทศโครงการ การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม
และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สาย บ.ป่าคลอก – บ.บางคู จ.ภูเก็ต
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30น. ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 ชั้น 2 โรงแรมเดอะพาโก้ ดีไซน์ภูเก็ต ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธีเปิดการประชุมปฐมนิเทศ การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านป่าคลอก ถึงบ้านบางคู จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสมกิตต์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต ได้กล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์การจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ รวมถึงยังได้รับเกียรติจาก พระครูสุทธิสีสานโขด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าเรือ หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมกว่า200 คน
นายสมกิตต์ กิตติโศภิษฐ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ และสร้างรายได้เข้า ประเทศจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ ๒ รองจากกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีการขยายตัวทั้งทางด้าน การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ หรือถนนเทพกระษัตรี เป็นเส้นทางคมนาคมทางบกสายหลักที่ใช้เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงมีแผนพัฒนาทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ สายท่าเรือ-เมืองใหม่ เป็นทางเลือกเข้าสู่ตัวเมือง อย่างไรก็ตามทางหลวงทั้งสองเส้นทาง จะต้องผ่านแยกท่าเรือ ซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๔๐๒ กับทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๗ และ ทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๕ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพการจราจรที่หนาแน่นตั้งแต่ช่วงแยกท่าเรือไปจนถึง แยกบางคู ส่งผลให้การจราจรติดขัด และเกิดความล่าช้าในการเดินทาง
นายสมกิตต์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไข ปัญหาดังกล่าวและเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กรมทางหลวง จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสม โครงข่ายและแนวเส้นทางที่เหมาะสม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเบื้องต้น (IEP ละดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากนี้ นายสมกิตต์ ยังได้กล่าวถึง การดำเนินงานดังกล่าวทางกรมทางหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้กำหนดให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ โดยสำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความเป็นมา โครงการ เหตุผลความจำเป็น ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ อย่างรอบด้านจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการ ดำเนินโครงการ การศึกษาความเหมาะสมทางด้าน เศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สาย บ้านป่าคลอก ถึง บ้านบางคู จังหวัดภูเก็ต