“ก้าว” ที่ไม่ก้าวก่าย

            วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นวันเริ่มต้นของกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” โดย ตูน บอดี้ สแลม หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย ศิลปินนักร้อง ประกาศวิ่งการกุศลจากใต้ขึ้นเหนือ เพื่อหารายได้เป็นทุนช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

          สำหรับเส้นทางวิ่งที่เริ่มต้นจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จะไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางรวมทั้งสิ้น 2,191 กิโลเมตร ตามแผนการวิ่งนี้จะใช้เวลา 55 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 25 ธันวาคม 2560 โดยตูน ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ยอดเงินบริจาคประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศไทย ที่ขาดแคลนอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย

          แน่นอนว่า เรื่องนี้คือเรื่องดีที่สังคมต้องให้ความสนใจ เพราะมีคนดังประกาศทำงานใหญ่เพื่อคนทั่วประเทศแบบนี้ กระแสสังคมต้องเป็นบวกมากกว่าลบ โดยเฉพาะความชื่นชม ยกย่องในการทำความดี เสียสละของนักร้องรายนี้ มันหมายถึงหลาย ๆ อย่าง ทั้งสุขภาพกายต้องดี สุขภาพจิตต้องดี และสำคัญที่สุด กระแสตอบรับจากสังคมก็ต้องดี เพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จไปพร้อมกัน

          อย่างไรก็ตาม แม้ “ก้าวคนละก้าว” ของตูน จะเป็นเรื่องดี ที่มองมุมใดก็มีแต่สร้างสรรค์ แต่ก็มีบางแง่มุม ที่ไม่ขานรับกระแส โดยเฉพาะคนที่มองไปอีกมุมหนึ่ง ก็อาจมองว่า อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อันนี้ก็คงต้องออกตัวช่วยตูนตอบไปว่า ปกติเขาก็ดังอยู่แล้ว ในฐานะของศิลปิน ถ้าเขาเอาเวลา เอาร่างกายของเขาไปทำมาหากิน จัดคอนเสิร์ต ในช่วงเกือบสองเดือน ก็คงมีเงินไหลเข้ากระเป๋าเขามากมายกว่าการมาวิ่งให้เหนื่อย และเงินที่ได้มาก็นำไปบริจาคการกุศลให้กับโรงพยาบาล 11 แห่ง

          และในมุมที่สนับสนุน ยกย่องตูน ก็ยังมีแอบเหน็บแนมแกมประชด ทำให้เห็นภาพกิจกรรมนี้บิดเบือนไปจากความตั้งใจจริง เพราะบางคนก็มองว่า การออกมาวิ่งของตูนครั้งนี้คล้ายเป็นตบหน้ารัฐบาล หน่วยงานของรัฐ ที่ไม่สนใจใส่ใจกับการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาล จนต้องให้ศิลปินผู้นี้มาออกโรงวิ่งหาเงินให้ คือ ถ้ารัฐจัดสรรเงินงบประมาณให้เพียงพอ ตูนเขาคงไม่ต้องมาวิ่งให้เหนื่อย

          ซึ่งเรื่องนี้กระทบชิ่งถึงลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเท่าที่ทราบมา ท่านก็ได้ชื่นชมตูน และชี้แจงแสดงเหตุผลว่า การที่โรงพยาบาลขาดแคลนงบประมาณนั้น ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่เหลียวแล ปล่อยให้เป็นยถากรรมจนต้องมีนักร้อง นักแสดง ออกมาทำกิจกรรมขอรับบริจาคเงินเช่นนี้ แต่เป็นเพราะว่า งบประมาณของชาติที่ได้มาจากเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ จะต้องถูกจัดสรรให้กับการพัฒนา การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนในชาติ หากทุ่มไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่องานด้านอื่น ๆ ได้ แต่เมื่อมีผู้ที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อขอรับบริจาคช่วยเหลือเช่นนี้ นับเป็นเรื่องดีที่สังคมไทยต้องช่วยกัน รัฐบาลก็ต้องดูแลทุก ๆ ด้านอยู่แล้ว

          สังคมที่ไม่มองแบบ “คนโลกสวย” จนเกินไป ต้องมองให้รอบด้าน มองอย่างไม่มีอคติ ให้ความเป็นธรรม และเคารพในการทำงานของทุกฝ่าย ไม่ใช่มองแต่แง่ดีของคนหนึ่ง และมองแต่แง่ร้ายของอีกคนหนึ่ง สุดท้ายก็คือ มองแบบอคติทั้งสองฝ่าย

          ดังนั้น ใครที่เห็นดีเห็นงาม สนับสนุนตูน บอดี้สแลม ก็ทำได้ในหลาย ๆ ช่องทาง เช่น บริจาคเงินสนับสนุน ร่วมไปวิ่งกับเขา หรือแม้แต่ใจจดจ่อติดตามข่าวสารว่าเขาวิ่งไปถึงไหนแล้ว เหตุการณ์ สภาพดินฟ้าอากาศ การต้อนรับของผู้คนเป็นอย่างไร และไม่ต้องไปเปรียบเทียบ ต่อว่า รัฐบาล หน่วยงานราชการหรือบุคคลใดที่เขาไม่สนับสนุน

          ส่วนท่านที่ไม่ค่อยเห็นด้วย หรือมองแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ก็คงต้องทำใจให้สบาย ๆ เพราะในประเทศไทยเรานี้ ยังมีเรื่องอีกมากมายยิ่งกว่า ตูน บอดี้สแลม วิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาล 11 แห่ง คือ คนทำความดีแต่ไม่ดัง ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อก็มีอีกเยอะ หรือคิดอยากจะทำดีที่แตกต่างจากนี้ ก็เป็นเรื่องดีงามที่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว

          อย่าให้ย่างก้าวของตูน บอดี้สแลม ที่เป็นกระแสสังคมเชิงบวก สร้างสรรค์ ต้องถูกปั่นเปลี่ยนแนวทางเป็น กระแสเชิงลบ กระทบกับผู้อื่น โดยไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสังคมเลย