ติวกม.ใหม่กลุ่มชาวประมง ยกระดับเข้าสู่ไทยแลนด์4.0
องค์การสะพานปลาเร่งให้ความรู้ชาวประมง-ผู้ประกอบการแพปลา เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ประมง ฉบับแก้ไข และมาตรฐานสุขอนามัย ขับเคลื่อนแก้ปัญหา IUU Fishing ยกระดับประมงไทยให้ยั่งยืนนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.อ.เริงฤทธิ์ บุญส่งประเสริฐ กรรมการองค์การสะพานปลา เป็นประธานเปิดโครงการอบรมส่งเสริมความรู้มาตรฐานสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง และการทำประมงถูกกฎหมาย และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมี ผศ.มานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา, ดร.จุมพล สงวนสิน และ นายประมวล รักษ์ใจ ผู้ทรงคุณวุฒิองค์การสะพานปลา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ เรือประมงพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาภูเก็ตเข้าร่วม
ผศ. มานพ กาญจนบุรางกูร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา กล่าวว่า ด้วยองค์การสะพานปลา ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้บริการสถานที่ขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง รวมถึงศูนย์กลางตลาดซื้อขายสัตว์น้ำภาครัฐของประเทศ ได้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัยสะพานปลา ท่าเทียบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง จึงกำหนดนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานสุขอนามัยดังกล่าว อีกทั้งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ ด้วยการส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านมาตรฐานสุขอนามัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการประมงและยกระดับพัฒนาคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงให้สามารถแข่งขันการค้าในระดับสากลได้
“องค์การสะพานปลามีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ ช่วยเหลือชาวประมงให้มีสถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำ แพปลา และที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้สินค้าสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าได้รับการตรวจสอบถูกต้อง ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 สิ่งที่เป็นกังวล คือ ผู้ประกอบอาชีพประมงส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจกระบวนการการปฏิบัติ และไม่เข้าใจความสำคัญของการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมงฯ ทำให้บางแห่งปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดและทำให้มีโทษปรับในวงเงินที่สูงมาก จึงได้เร่งให้ความรู้กับชาวประมง และผู้ประกอบการแพปลา ที่สำคัญ คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือ แพปลาและมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าสัตว์น้ำ ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีงานตรวจย้อนกลับสัตว์น้ำ”
ผศ.มานพ กล่าวต่อว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายการทำประมง การใช้แรงงานข้ามชาติ การจดทะเบียนเรือประมง ขั้นตอนการขนถ่าย การชั่งสัตว์น้ำด้วยเครื่องชั่งระบบดิจิทัลอัตโนมัติแบบไร้สาย และให้สามารถบันทึกข้อมูลการจับสัตว์น้ำได้จริง จนนำข้อมูลในการออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (MCP) ไปใช้ในการขอรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certification) เพื่อการส่งออกจากกรมประมงได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และตรวจสอบได้ตามกฎหมายกำหนดและมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ให้รัฐบาลในการพัฒนายกระดับการประมงไทยให้ยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตาม ผศ. มานพ กล่าวถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาภูเก็ต ว่า ในปีงบประมาณ 2561 มีโครงการในการพัฒนาองค์การสะพานปลาภูเก็ตอยู่แล้ว โดยเป็นโครงการยกระดับโครงสร้าง และมาตรฐานสุขอนามัยของท่าเทียบเรือ โดยใช้งบประมาณ 52 ล้านบาท ซึ่งองค์การสะพานปลาภูเก็ตถือว่า มีแนวปฏิบัติดีกว่าท่าเทียบเรืออื่นๆ ในความรับผิดชอบขององค์การสะพานปลา เนื่องจากมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาก่อนที่อื่นๆ ซึ่งจะทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี