ททท.นำสื่อเยี่ยมท่าเรือ สร้างความเชื่อมั่นกลับสู่จังหวัดภูเก็ต
ททท. พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ภูเก็ตติดตามสถานการณ์ และสังเกตการณ์ การดำเนินงานท่าเทียบเรือในพื้นที่รวมทั้งมาตรการ การจัดการด้านการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกประเทศเกิดความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ดี มีมาตรฐานอย่างครบวงจร
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 61 เวลา 09.30 น. นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต นำสื่อมวลชนในประเทศและสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 20 คน เดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามสถานการณ์ และสังเกตการณ์ การดำเนินงานของ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ซึ่งท่าเทียบเรือแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยเรือล่มจังหวัดภูเก็ต และเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่นำผู้ประสบภัยขึ้นฝั่ง เพื่อนำส่งโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตและโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยมี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคใต้) สื่อมวลชนท้องถิ่น ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปผลจากเหตุการณ์เรือล่ม ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 61 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ เจ็ตสกี, เรือเซเรนาต้า และเรือฟีนิกซ์ล่ม ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเรือทั้ง 3 ลำ มีทักท่องเที่ยว ลูกเรือ ไกด์ และครูสอนดำน้ำ รวม 147 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้รอดชีวิต จำนวน 100 ราย และมีนักท่องเที่ยวชาวจีน เสียชีวิต จำนวน 47 ราย
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ตขณะนี้ได้ปิดศูนย์ฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จะเป็นการปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลแทน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุเรือล่มนั้นบรรยากาศในช่วงเช้าท้องฟ้าปลอดโปร่ง แม้จะมีการตั้งเค้าของเมฆฝนมาจากทิศตะวันตกและมีคลื่นลมแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่ง เมื่อเวลา 17.00 น.ได้รับการรายงานว่าเกิดเหตุเรือล่มบริเวณทางทิศใต้ของเกาะเฮ โดยในวันดังกล่าวมีคลื่นสูงประมาณ 5 เมตร และเป็นจุดที่มีแนวลมแรงมาก ซึ่งลักษณะการจมของเรือ 2 ลำ แตกต่างกันโดยเรือเซเรนาต้า มีลักษณะการจมแบบค่อยๆจมใช้เวลาในการจม ประมาณ 6 ชั่วโมง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถออกจากเรือได้ทัน แต่ในส่วนของเรือฟีนิกซ์นั้น เป็นลักษณะการจมแบบทันทีทันใดทำให้มีนักท่องเที่ยวติดอยู่ภายในเรือ ซึ่งขณะเกิดเหตุได้มีการระดมกำลังช่วยเหลือทั้งเรือประมงพาณิชย์ และเรือของทัพเรือภาคที่ 3 แต่ด้วยภาวะคลื่นลมที่มีความแรงทำให้เรือขนาดเล็กจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้
โดยหลังจากเกิดเหตุ จังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เรือล่ม ณ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองทันที สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นได้เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งการกู้ชีพและการกู้ร่างผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งหลังจากเกิดเหตุเรือล่มและได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการฯ ได้ตั้งคณะทำงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลโดยสามารถทำการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้เสร็จสิ้นในช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน พร้อมกันนี้ในการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้มีการดำเนินการจัดการหาล่ามและเจ้าหน้าที่ไปประจำที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือญาติของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนล่ามจากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวและสมาคมโรมแรมไทย (ภาคใต้) รวมถึงสนับสนุนห้องพักให้แก่ญาติกว่า 500 ห้อง และจังหวัดได้อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการศพให้กับญาติผู้เสียชีวิตโดยผู้เสียชีวิตทั้ง 47 ราย ญาติแจ้งความประสงค์ฌาปนกิจที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 40 ราย และส่งกลับประเทศ จำนวน 7 ราย สำหรับ ตอนนี้การช่วยเหลือเยียวยาสามารถดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับญาติผู้เสียชีวิตได้จำนวน 30 ราย และผู้บาดเจ็บ รวมเป็นเงินกว่า 64 ล้านบาท และในส่วนของญาติที่เหลือได้นัดหมายมาทำเอกสาร ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 นี้ ณ ห้องลีลาวดี โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
นอกจากนี้ นายนรภัทร ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเลขณะนี้ จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยทางทะเลที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองแห่งนี้ โดยกำหนดให้มีเรืออยู่ประจำตลอดเวลา จำนวน 3 ลำ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์แห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีวิทยุสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานทั้งเรือประมง,เรือของราชการ,สื่อมวลชน,สถานีวิทยุกระจายเสียงและเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยไปสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งที่ศูนย์แห่งนี้จะต้องมีวัสดุอุปกรณ์ ชุดประดาน้ำ โดยประสานกับภาคเอกชนมาช่วยสนับสนุน และจังหวัดได้กำหนดแผนยกระดับความปลอดภัยทางทะเล ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีจุดเช็คพ้อยเพื่อตรวจสอบเรือ กัปตันเรือ และผู้โดยสารโดยมีเป้าหมาย เรือทุกลำที่ออกจากท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ตจะต้องผ่านจุดเช็คพ้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ ที่บูรณาการกับทัพเรือภาคที่ 3, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตและสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ได้ทำการตรวจสอบเรือจะต้องมีความพร้อม กัปตันเรือจะต้องมีความพร้อมและจำนวนผู้โดยสารที่ลงไปจะต้องมีรายชื่อ พร้อมทั้งจะต้องมีการบันทึกภาพผู้โดยสารที่ลงเรือทั้งหมดและจะต้องมีการส่งข้อมูลการเดินทางของเรือไปสู่เป้าหมายที่เรือจะเดินทางไปถึงด้วย
อีกทั้ง ยังได้มอบหมายให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ต้องเพียงพอกับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นผู้รับบริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และมีการขอความร่วมมือจากบริษัทการท่องเที่ยวที่จะต้องให้ความรู้ในการใช้อุปกรณ์และมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทางทะเล ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการผลิตสื่อมัลติมีเดีย 5 ภาษา “การท่องเที่ยวทะเลภูเก็ตอย่างไรให้ปลอดภัย” ส่งให้บริษัทท่องเที่ยวเพื่อนำไปส่งต่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้และเข้าใจ
ส่วนทางด้าน พลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่มกองทัพเรือได้มอบหมายให้ทัพเรือภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุน นักประดาน้ำจากประเทศจีนมาช่วยในการปฏิบัติค้นหาผู้ประสบภัยด้วย โดยหลังจากนี้ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้วางแผนจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนในทะเลอันดามัน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป และขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือและให้กำลังใจมาโดยตลอด
ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย และจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกฝ่ายถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การบังคับใช้กฎหมายเรื่องการตรวจเรือ มาตรฐานความปลอดภัยของเรือ ผู้ขับขี่เรือ ฯลฯ โดยจะต้องทำทุกอย่างอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงหลังเกิดเหตุเท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกประเทศเกิดความเชื่อมั่น เพื่อให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ดี มีมาตรฐาน อย่างครบวงจรอีกด้วย
สำหรับภารกิจอื่นๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีกำหนดการที่จะนำสื่อมวลชนเดินทางไป สังเกตการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวทางทะเล และการบริหารจัดการของท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่นำเทคโนโลยี สายรัดข้อมือ ติดตามตัวนักท่องเที่ยว (Wristband) มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และจะเดินทางไป สังเกตการณ์บรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวจีน ณ ศูนย์การค้าจังซีลอน และวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 คณะสื่อมวลชนจะไปยังท่าเทียบเรือรัษฎา เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลของนักท่องเที่ยวจีน โดยช่วงบ่ายเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าถนนถลาง
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 กล่าวถึง ระบบ AIS คือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง เพื่อในการติดตามและให้ทราบว่าเรือที่อยู่ในท้องทะเลทั้งหมด มีเรืออะไรบ้าง เราสามารถรู้ถึงชื่อเรือนั้นๆ และเรือนั้นวิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ อยู่ตำบลที่จุดตรงไหนบ้าง พวกนี้จะบอกหมดเลยหากว่าระบบใช้งานปกติ ขอย้ำว่าความเป็นจริงทุกระบบจะต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและสิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบันการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีเร็วมาก และ ก็ถูกมากสามารถนำมาใช้ได้ดีมากหากว่านำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็มีวิธีเลือก 3 อย่าง คือ ระบบแบบวิทยุสื่อสาร คือ ระบบ VHF ก็จะมีระบบ มดดำและ มดขาว ที่ชาวบ้านเรียก ซิตี้แบรนด์ (CB) หรือที่ชาวประมงเค้าใช้กัน ซึ่งศูนย์นี้เค้าจะสามารถติดต่อได้ระหว่างเรือสินค้าระหว่างประเทศ และเรือประมงทั่วไป และ ระบบเรด้า เป็นตัวที่กวาดเป้าออกไปตามรัศมีของเรด้าที่กวาดของศูนย์นี้ สามารถกวาดออกไปได้แต่ละจุดถึง 30 ไมค์ทะเล หรือประมาณ 60 กิโลเมตร จากการคำนวณคร่าวๆในรัศมี อันนี้เราจะรู้หมดว่ามีเป้าอะไรบ้าง แต่เราจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เช่น รู้ว่ามีอยู่ตรงจุดนี้ อยู่เป็นจุด จุด เท่านั้น ส่วนระบบสุดท้าย แบบระบบ AIS ที่ย่อมาจาก automatic identification system คือ ตัวสะท้อนเป้าอัตโนมัติ เรือทุกลำที่ติดระบบ AIS สำหรับที่จังหวัดภูเก็ตเรือผู้โดยสารเราบังคับใช้กับเรือที่มีผู้โดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป จะต้องติดระบบ AIS ทุกลำอย่างน้อย Class B สำหรับ Class B มีอะไรบ้าง คือ อย่างน้อยบอกชื่อเรืออะไร วิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ ตำบลจุดที่ตรงไหน ฯลฯ ถ้าเปิดระบบ AIS เรือทุกลำ ศูนย์แห่งนี้ก็จะมองเห็นหมดถ้าเกิดอุบัติเหตุ จะสามารถระบุเป้าได้เลยว่าจุดนั้นเกิดขึ้นจะทำให้การค้นหาและช่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถ้าหากระบบมีการประสานงานที่สมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ควบคุมทั้งหมด 23 สถานี โดยครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง ส่วน จ.สตูลยังไม่ครอบคลุมเราไม่ใช่อยู่กลุ่มจังหวัด เพราะเราใช้งบกลุ่มจังหวัดในการจัดทำคาดว่าทางกรมเจ้าท่าฯจะของบไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะจัดทำและเชื่อมระบบให้สมบูรณ์ที่ฝั่งอันดามันและเราก็จะสามารถดูแลได้อย่างครอบคลุม