ทางหลวงแจงความคืบหน้า โครงการแก้ปัญหาจราจรภูเก็ต

          ที่ประชุม กรอ.ภูเก็ตนัดแรกของปี 61 ฝ่ายวิศวกรรม แขวงการทางภูเก็ต ชี้แจงความคืบหน้าของการปรับปรุงแก้ไขการปัญหาการจราจรบนทางหลวงในพื้นที่ภูเก็ตระเอียดยิบ โดยเฉพาะอุโมงค์ทางลอดเสร็จไปแล้ว 3 โครงการ ยังคาราคาซังอยู่อีก 3 โครงการ รวมทั้งสะพานยูเทิร์นกลับรถถนนเทพกระษัตรีย์ 2 จุด ยังติดไม่ยอมรับการเวณคืนหลายราย ต้องรอต่อไป และนอกจากนั้นยังมีอีกหลายโครงการที่ยังมีผลกระทบต่อการเดินทางไปสนามบิน และยังต้องใช้งบดำเนินการรวมไม่ต่ำกว่า  23,000 ล. ส่วนทางสายกะทู้-ป่าตองสรุปจะแก้ด้วยการตัดความลาดชัน ขยาย และแบ่งเป็น 4 ช่องจราจรมีเกาะกลางแท่งเบอริเออร์คอนกรีต กันประสานงา แทนการรออุโมงค์ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก

          นายพิจักษณ์ ศรชนะ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต ฝ่ายวิศวกรรม ชี้แจงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโครงข่ายถนนและอุโมงค์ทางลอดต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า  โครงการขนาดใหญ่ในส่วนของงานพัฒนาทางหลวง ของจังหวัดภูเก็ต ปีงบประมาณ 2556-2561 มี จำนวน 6 โครงการ  ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วเสร็จ 3 โครงการ ได้แก่ ทางลอดจุดตัดแยกดาราสมุทร, ทางลอดจุดตัดทางแยกสามกอง และทางลอดจุดตัดทางแยกบางคู ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ทางแยกจุดตัดห้าแยกฉลอง, ทางลอดจุดตัดทางแยกเข้าสนามบินภูเก็ต และสะพานกลับรถต่างระดับ งบประมาณรวม 3,227,507,000 บาท

           โดยความคืบหน้าโครงการทางลอดจุดตัดห้าแยกฉลอง ซึ่งใช้งบประมาณ 546,550,000 บาท  กำหนดแล้วเสร็จ กันยายน 2561 มีผลการดำเนินงานรวมแล้วประมาณ 27%   และมีการจัดกรรมสิทธิ์เพิ่มเติมจำนวน 13 แปลง  จำนวนที่ดินสิ่งปลูกสร้างจำนวน 48 ราย วงเงินเวนคืน 46 ล้านบาท มีการจ่ายเงินไปแล้ว 37 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนโครงการทางลอดจุดตัดทางแยกเข้าสนามบินภูเก็ต  งบประมาณ 500 ล้านบาทกำหนดแล้วเสร็จ กันยายน 2561 มีผลการดำเนินงานรวมแล้วประมาณ 57%  และโครงการสะพานกลับรถต่างระดับ (เกือกม้า) จำนวน 2 จุด  งบประมาณ 200 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จ กันยายน 2561 ยังติดปัญหาพื้นที่ในการดำเนินงานก่อสร้าง โดยได้มีการจ่ายค่าทดแทนด้วยการจัดกรรมสิทธิ์เพิ่มเติม จำนวน 18 แปลง วงเงินประมาณ 228 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ยอมรับเงินแล้ว 4 ราย คงเหลืออีก 17 ราย ซึ่งจะต้องดำเนินการในส่วนการเจรจาและจ่ายค่าทดแทน และค่าทดแทนในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต่อไป

            ส่วนของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการโดยแขวงทางหลวงภูเก็ต ซึ่งกระทบกับการจราจรและจะต้องมีการพัฒนาแก้ไขเพิ่มเติม มี 4 จุด คือ ทางหลวงหมายเลข 4031 ตอนมุดดอกขาว-สนามบินภูเก็ต งบประมาณดำเนินการ 10 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่ อบต.สาคู เป็นเส้นทางเข้าสู่สนามบินภูเก็ต โดยเป็นการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ด้วยการยกระดับถนนเพื่อป้องกันน้ำท่วม, ทางหลวงหมายเลข 4031 ตอนมุดดอกขาว-สนามบินภูเก็ต (สามแยกมุดดอกขาว)  งบประมาณ  19.268 ล้านบาท  เป็นการขยายเพิ่มช่องจราจรบริเวณสามแยกเพื่อเข้าสู่สนามบินภูเก็ตอีกเส้นทางหนึ่ง, แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ  ทางหลวงหมายเลย 402 ตอนโคกกลอย-หมากปรก เป็นการแก้ไขโค้งบางดุก งบประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และทางหลวงหมายเลข 4027 ตอนท่าเรือ-เมืองใหม่ เป็นการปรับปรุงโดยสร้างเกาะกลางแบ่งช่องจราจรและแบ่งทิศทางจราจร งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการบนผิวทางเดิมที่มีการร้องขอจากเทศบาลตำบลป่าคลอก ว่า เส้นทางสายนี้ช่องจราจรกว้างเกินไป ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก

           โครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับงบประมาณปี 2560 เพิ่มเติม จำนวน 3 โครงการ ได้แก่โครงการปรับปรุงทางหลวงหน้าสนามบินภูเก็ต (บริเวณสามแยกในยาง) จำนวน 50 ล้านบาท  มีผลงานแล้ว 16% ,โครงการขยายทางจราจรไปท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต  จำนวน 50 ล้าน มีความคืบหน้าประมาณ 11%  และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงช่วงหาดป่าตอง-กะรนงบประมาณ 50 ล้านบาทมีความคืบหน้าไม่มาก ซึ่งทั้ง 3 โครงการกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561

           โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงทางหลวงเข้าสนามบินภูเก็ต เส้นที่ 2 หมายเลข 4031(เส้นเลียบสนามบินภูเก็ต) งบประมาณ 72 ล้านบาท ซึ่งออกแบบเสร็จแล้ว รอการอนุมัติใช้พื้นที่จากธนารักษ์และงบประมาณจากท่าอากาศยานภูเก็ต โครงการก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ระยะทาง 19.53 กิโลเมตร  งบประมาณ 720 ล้านบาท ขณะนี้มีการขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว 6 กิโลเมตร เหลือยังเป็นสองช่องจราจรอีกประมาณ 13 กิโลเมตร และช่วงปลายถนนจะเป็นชุมชนบ้านเมืองใหม่ มีเขตทางแคบและไม่สามารถขยายช่องจราจรได้ แนวทางแก้ไข คือ การตัดถนนแนวใหม่เลี่ยงชุมชนระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นการปรับจากสามแยกสนามบินเดิมให้เป็นสี่แยก ซึ่งในช่วงของการดำเนินการแนวใหม่ จะต้องผ่านพื้นที่ป่าชายเลน จะต้องมีการออกแบบรายละเอียดและศึกษา EIA โดยกรมทางหลวงได้เสนองบประมาณแบบแยกส่วน ในการดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2562 คือ จากช่วงที่สุดของ 4 ช่องจราจรเดิม ประมาณ กม.5+900 – กม.14 ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตรเศษ วงเงิน 320 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงแนวใหม่บ้านสาคู-เกาะแก้ว ซึ่งมีการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดส่งรายงาน EIA ให้กับสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณา มีการประมาณวงเงินก่อสร้างประมาณ 11,570 ล้านบาท และค่าเวนคืนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 11,150 ล้านบาท  รวมงบทั้ง 3 โครงการ จำนวน 23,512 ล้านบาท นายพิจักษณ์กล่าว

             สำหรับการแก้ไขทางขึ้นป่าตอง หรือสายกะทู้ไปป่าตอง ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยนั้น นายพิจักษณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาทางกายภาพของทางหลวงหมายเลข 4029 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ปัจจุบันถนนสายนี้มีปริมาณการจราจรสูงถึง 58,000 คันต่อวัน ในขณะที่ถนนมีความกว้าง 12 เมตร หากแบ่งช่องจราจรตามปกติจะแบ่งได้เพียง 2 ช่องจราจร แต่ปัจจุบันได้พยายามใช้ประโยชน์จากผิวจราจรเดิมให้สามารถวิ่งสวนกันได้ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เป็นการแก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมว่าถนนเส้นนี้จะต้องบริการการใช้เส้นทางตลอดเวลา

            ดังนั้นในการพัฒนาและปรับปรุงจะต้องขยายผิวจราจรออกด้านข้างให้มีความกว้างรองรับการจราจรที่ไม่เบียดกันจนเกินไปให้มีขนาดต่อช่องจราจรกว้างตามมาตรฐานสูงสุด คือ 3.50 เมตร เป็นการขยายสี่ช่องจราจรให้สมบูรณ์แบบ และมีเกาะกลางเป็นคอนกรีตแบริเออร์ซึ่งแบ่งทิศทางการจราจรให้ชัดเจนป้องกันการวิ่งเข้ามาเฉี่ยวชนกันในลักษณะของการประสานงา และในส่วนที่เป็นโค้งลาดชันเชิงเขาให้มีคอนกรีตแบริเออร์ป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ส่วนบริเวณลาดเชิงเขาก็ป้องกันการสไลด์ ซึ่งส่วนนี้ได้จัดทำรูปแบบแผนงบประมาณในวงเงิน 207 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 ส่วนดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยร่วมกับหอการค้าเสนอรูปแบบไปสู่กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมแล้ว ปัจจุบันได้มีหนังสือกลับมายังแขวงทางหลวงภูเก็ตให้ดำเนินการต่อ คือ ให้เสนอไปตามขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติงบประมาณ

             นายพิจักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้เสนอไว้แผนงบประมาณปี 2561 ในส่วนของภาคและแจ้งให้ทางกรมทางหลวงทราบแล้วด้วย เพราะหากจะรอโครงการสร้างอุโมงค์ป่าตองไม่ได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องใช้เวลาก่อสร้างนาน จึงต้องมีการวางแผนในการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งการขยายช่องทางจราจรและการตัดความลาดชันจึงมีความจำเป็น

            “ในการประชุมครม.สัญจรเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้นำเสนอโครงการดังกล่าวโดยให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ในการของบประมาณ และเพื่อเป็นการเร่งรัดโครงการ จะได้มีมติที่ประชุม กรอ.ภูเก็ตเห็นชอบเสนอโครงการตามรูปแบบที่แขวงทางหลวงนำเสนออีกครั้ง นอกจากนี้ฝากทางแขวงทางหลวงช่วยเร่งปรับปรุงถนนสายกะรนให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงที่สุด โดยเฉพาะกรณีที่ไหล่ทางทรุดให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงหน้าแล้งนี้ เพื่อรองรับหากได้รับงบประมาณมาใช้ในการปรับปรุงถนนสายกะทู้ป่าตองภายในปี 2561 นี้” นายพิจักษณ์กล่าว

            สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระดับจังหวัดนั้น นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ขยายระยะเวลาห้ามนำรถบัสหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นเขาป่าตองจากเดิม 19.00 น. เป็นเวลา 23.00 น. นอกจากนี้ยังได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทในการเข้าไปปรับปรุงผิวจราจรและเครื่องหมายต่างๆ ด้านทางสำนักงานขนส่งก็ได้มีการคิดค้นวิธีการตรวจเช็คสภาพรถ ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวนี้จะมีการทดลองนำมาใช้ที่บริเวณเกรทเวย์หรือประตูเมือง โดยจะให้มีการตรวจสภาพรถบริเวณดังกล่าวก่อนที่จะผ่านด่านตรวจเข้ามายังตัวเมืองภูเก็ต

           ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.60 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช ปลัดจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

           นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการติดตามผลการดำเนินการโครงการก่อสร้างอุโมงค์แยกสนามบิน ,โครงการก่อสร้างอุโมงค์ห้าแยกฉลองและ จุดกลับรถเกือกม้าสองจุดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในทุกจุดในส่วนของอุโมงค์ส่วนที่กลับรถก็อยู่ในระหว่างดำเนินการ จากนั้นได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการความเร็วในพื้นที่ชุมชนจังหวัดภูเก็ต โดยกำหนดให้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เพื่อกำหนดความเร็วที่เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชน และให้เจ้าพนักงานจราจรออกประกาศข้อบังคับตามระเบียบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐานตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆของจังหวัดภูเก็ต โดยได้มีการปรับปรุงถนนสายแยก ทล. 4027 – บ้านนาใน พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ความยาว 5.00 กิโลเมตร ด้วยวงเงินงบประมาณ 45 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย ทช.ภก 3030 – บ้านกะทู้ ความยาว 4.517 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 45 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมตำบลฉลอง ตำบลวิชิต ความยาว 260 เมตร วงเงินงบประมาณ 100 ล้านบาท

           ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตได้สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลพร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การพิจารณาและตัดสินใจในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกครั้งต่อไป