นายกฯ อบจ.ภูเก็ต เปิดกิจกรรมนิ้วล็อกสัญจร จ.ภูเก็ต ครั้งที่ 3

นายกฯ อบจ.ภูเก็ต เปิดกิจกรรมนิ้วล็อกสัญจร จ.ภูเก็ต ครั้งที่ 3

                    เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมนิ้วล็อกสัญจร จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 3 ซึ่งมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ อบจ.ภูเก็ต ศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ และผู้เกี่ยวข้อง สื่อมวล เข้าร่วม

                     สำหรับ กิจกรรมนิ้วล็อกสัญจร ครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นหญ้าแพรก กับ โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้การนำของ นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน, คุณสรายุทธ มันรัมย์ และประธานรุ่นหญ้าแพรกคนปัจจุบัน และ คุณพิชญา สุขาโต รวมถึงเหล่าบรรดาแม่บ้านที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นการสัญจรออกหน่วย เป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2557

                        ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยที่มีอาการนิ้วล็อก โดยทีมแพทย์ผู้มีความชำนาญ และเป็นการรักษาแบบการเจาะผ่านผิวหนัง โดย นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล เป็นผู้บัญญัติคำว่า “นิ้วล็อก” ขึ้นเมื่อปี 2542 นับระยะเวลา 24 ปี

ข้อควรปฏิบัติหลังการเจาะรักษาโรคนิ้วล็อก

1. ห้ามเปิดแผลทิ้งไว้ และห้ามแผลถูกน้ำเด็ดขาด ใช้ถุงพลาสติกคลุมขณะอาบน้ำ

2. ควรยกมือสูงระดับไหล่ ไว้ซัก 1-2 ชั่วโมง การรักษาป้องกันเลือดซึมแผลเขียวช้ำ

3. ควรเริ่มการบริหาร กำมือ-แบมือ หรือ งอนิ้ว เหยียดนิ้วให้สุดๆ บ่อยๆ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น การไม่บริหารจะทำให้มือตึงและฝืด

4. ให้มาพบแพทย์ เพื่อเปลี่ยนผ้าปิดแผลเมื่อครบ 7 วัน ไม่ต้องถอดผ้าที่พับไว้

5. หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำอีก 2-3 วัน ให้แน่ใจว่าแผลปิดสนิทแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อในแผล หากไม่แน่ใจ ให้ปิด Tensoplast ไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย

6. ควรถนอมมือ ไม่ควรใช้งานของมือรุนแรง เช่น การหิ้วถุงหนัก ยกกระเป๋าเดินทาง การตัดต้นไม้ ขุดดิน ยกโต๊ะ บิดผ้า หรือตีกอล์ฟ ในช่วงเดือนแรกๆ เพราะจะทำให้นิ้วบวมอักเสบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วกลาง ควรระวังเป็นพิเศษ เพราะพังผืดหนา ยาว และแข็งแรงที่สุด

7. ควรฝึกบริหารมือโดยกำมือ แบมือให้สุดๆ บ่อยๆ ร่วมกับการประคบหรือใช้มืออังถ้วย กระเบื้องใส่น้ำร้อน แช่น้ำร้อนพอทน ก็มีส่วนช่วยให้พังผืดอ่อนตัว และฝึกบริหารมือ การทำอุลตร้าชาวด์ เป็นการฟื้นฟูให้หายเป็นปกติเร็วขึ้น

8. หากมีการเผลอใช้มือรุนแรงก่อนกำหนด อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ บวม ฐานนิ้วนั้นๆ ควรพักมือ แช่น้ำอุ่นประคบ และรับประทานยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่ steroid หรือกินยาคลายเส้น 1 สัปดาห์ หากยังเจ็บบวมควรกลับมาพบแพทย์

               สรุป ใน 7-10 วันแรก ควรดูแลให้แผลแห้งสะอาด ไม่ถูกน้ำจะปลอดภัยจากแผลติดเชื้อ ช่วงเดือนแรกๆ ให้มีสติ ระมัดระวังอย่าใช้มือรุนแรง ยกของหนัก บิดผ้า หมั่นบริหาร กำแบให้สุดๆ บ่อยๆ

#อบจภูเก็ตดูแลประชาชน
#โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
#Phuketprice
#phuketprice