“ปราบ” ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ผู้บริหารพิโซน่า กรุ๊ป มอบที่ดินทำถนนสำรองทางเลือกขึ้น-ลงป่าตอง เส้นทาง ศาลเจ้าพ่อเสือ – โกคาร์ท กะทู้ ระยะทาง 3 ก.ม. บรรเทาความเดือดร้อนระหว่างซ่อมแซมถนนสายหลัก
“ปราบ” ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ผู้บริหารพิโซน่า กรุ๊ป มอบที่ดินทำถนนสำรองทางเลือกขึ้น-ลงป่าตอง
เส้นทาง ศาลเจ้าพ่อเสือ – โกคาร์ท กะทู้ ระยะทาง 3 ก.ม. บรรเทาความเดือดร้อนระหว่างซ่อมแซมถนนสายหลัก
จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาดินสไลด์ในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในนั้น คือ คันทางถนนพระบารมี หรือทางหลวงหมายเลข 4029 ตอนกะทู้-ป่าตอง (ฝั่งกะทู้ช่วงโค้งแรงดัน) ซึ่งเป็นถนนสายหลักในการเดินทางเข้า-ออกป่าตอง พังทลาย ระยะทางยาวประมาณ 200-300 เมตร
ทำให้ต้องปิดการจราจรชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย แต่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าตอง หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพ เนื่องจากส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.กะทู้ ประกอบกับสถานศึกษาหลายแห่งเปิดภาคเรียนแล้ว
ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่การซ่อมแซมต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ย่อมกระทบกับเศรษฐกิจของป่าตองเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องหาเส้นทางสำรอง เพื่อให้รถทุกชนิดสามารถสัญจรไปมาได้ ระหว่างรอการซ่อมแซมเส้นทางสายหลักแล้วเสร็จ
นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ประธานพิโซน่ากรุ๊ปและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาป่าตอง เปิดเผยว่า ด้วยรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และในฐานะที่เป็นคนป่าตองก็ต้องการที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการสัญจรไปมาของคนป่าตองหรือคนที่มาทำงานป่าตอง รวมถึงนักท่องเที่ยว เพราะป่าตองถือเป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจของภูเก็ตและประเทศไทย ประกอบกับตนมีที่ดินอยู่ 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ บริเวณตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งยินดีที่จะให้นำไปใช้ประโยชน์ ด้วยการตัดถนน และเพื่อให้ทันกับความต้องการ จึงให้ทีมงานลงไปสำรวจและทำการปรับพื้นที่เป็นการด่วน เพื่อให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว เบื้องต้นจะทำเป็นถนนกว้าง 12 เมตร พร้อมลาดยาง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เรียกชื่อเส้นทางศาลเจ้าพ่อเสือ (ป่าตอง) – โกคาร์ท กะทู้ เพื่อเป็นถนนทางเลือกให้ประชาชนได้ใช้สัญจรไปมาโดยเร็ว และพร้อมที่จะให้จัดทำเป็นถนนถาวรเพื่อใช้งานต่อไปในอนาคตด้วย
เนื่องจากปัจจุบันมีถนนสายหลักที่เข้าป่าตองที่ใกล้ที่สุดเพียงเส้นเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาถนนชำรุดก็ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะหากหันไปใช้ทางเสี่ยงไม่ว่าจะฝั่งกะรน หรือกมลาต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน และมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นด้วย ไม่เฉพาะกับคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในส่วนของนักท่องเที่ยว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสำรวจและจัดทำเส้นทางสำรอง เพื่อรองรับในช่วงที่ถนนสายหลักมีปัญหา