ปล่อยขบวนรถ-เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อเตรียมพร้อมการปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต 4 จังหวัด
วันที่ 29 มีนาคม 2565 บริเวณลานหน้าอาคารสำนักงานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยขบวนรถ-เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อเตรียมพร้อมการปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ระนองและตรัง ทั้งนี้เพื่อสร้างมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนว่า หากเกิดสถานการณ์ภัยในแต่ละจังหวัดๆ ก็จะสามารถจัดการภัยได้อย่างทันท่วงที ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ลดปัญหาข้อจำกัดของระยะทางในการเดินทางของเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์เขตไปยังจังหวัดในพื้นที่ กรณีเกิดภัยได้เป็นเป็นอย่างมาก
นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ บ่อยครั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีนโยบาย และกำหนดแนวทางในการจัดเครื่องจักรกลสาธารณภัยบางประเภทไปเตรียมความพร้อมเพื่อการปฏิบัติงานประจำที่จังหวัด เพื่อให้จังหวัดมีความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
เครื่องจักรกลสาธารณภัยที่เตรียมพร้อมการปฏิบัติในพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วย รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1-2 คัน, รถประกอบอาหารพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน, เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 1-2 ลำ และเครื่องสูบน้ำขนาดท่อส่ง 14 นิ้ว หรือเครื่องสูบน้ำระยะไกล 3 กิโลเมตร จำนวน 1-2เครื่อง ซึ่งเครื่องจักรกลสาธารณภัยดังกล่าว เป็นเครื่องจักรกลสาธารณภัยที่จำเป็นในการจัดการสาธารณภัย ต่างๆ เช่น รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย พร้อมอุปกรณ์ ใช้สำหรับขนย้ายผู้ประสบภัยพร้อมสัมภาระได้มากกว่า 30 คน หลังคาสามารถถอดได้เพื่อบรรทุกสิ่งของ ติดตั้งเครนทำงานด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 7.2 ตัน/เมตร ตัวรถยกสูง ขับเคลื่อนที่ 4 ล้อ สามารถสัญจรในพื้นที่น้ำท่วมสูงได้ไม่เกิน 60 เซนติเมตร ถือว่าเป็นเครื่องจักรกลสาธารณภัยอเนกประสงค์ เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างการใช้รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยที่ผ่านมา เช่น ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ได้สนับสนุนจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ในการขนย้ายผู้ป่วย โควิด – 19 อุปกรณ์สำหรับโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น หรือจะเป็นรถประกอบอาหารพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งมีอุปกรณ์ในการประกอบอาหารประจำรถกว่า 40 รายการ เพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดภัยต่างๆ
โดยแนวปฏิบัติในการจัดเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆนั้น จังหวัดจะต้องมีความพร้อมของสถานที่จัดเก็บรักษาเครื่องจักรกลสาธารณภัย มีพนักงานขับรถที่มีความชำนาญและการดูแลซ่อมบำรุงเบื้องต้น และบันทึกการใช้เครื่องจักรกลสาธารณภัย รายละเอียดการซ่อมบำรุง และบันทึกรายงาน กรณีการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ในหลักการปฏิบัติของจังหวัด ๆ จะประสานบูรณาการระหว่างเครือข่าย หน่วยงานในพื้นที่ที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เป็นต้น