ภูเก็ตประกาศปิดพื้นที่รอยต่อแต่ละตำบล ลดการเคลื่อนย้ายป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด 19 ระหว่างวันที่ 13-26 เม.ย.63
คำสั่งจังหวัดภูเก็ต
ที่ 1908/2563
เรื่อง ปิดสถานที่และกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จังหวัดภูเก็ต
โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไปในหลายประเทศทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เกี่ยวกับโรคดังกล่าวและและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และจากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดภูเก็ตพบว่ายังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างทั่วบริเวณจังหวัดภูเก็ต
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศและคำสั่งเพื่อกำหนดมาตรการในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น เพื่อให้การยกระดับมาตรฐานในมาตรการ การเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในตามมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อ 7 (1) ประกอบข้อ 1 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 13 และข้อ 14 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 18/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2563 จึงขอยกเลิกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1823/2563 ลงวันที่ 4 เมษายน 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1825/2563 ลงวันที่ 5 เมษายน, คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1826/2563 ลงวันที่ 5 เมษายน 2563, คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1831/2563 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1832/2563 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 และคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1833/2563 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นการปิดสถานที่เสี่ยงและกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้, พื้นที่ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต, พื้นที่ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต, พื้นที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้, พื้นที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต และพื้นที่ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตามลำดับและให้ใช้ข้อความดังนี้แทน
ข้อ 1 ให้ปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทุกตำบล เพื่อควบคุมให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลและพยานพาหนะให้น้อยที่สุดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ยกเว้นบุคคลที่มีความจำเป็นเพื่อการพบแพทย์ การรักษาพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่แพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ โทรคมนาคมและไปรษณีย์ หรือบุคคลที่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานเพื่อให้บริการประชาชน หรือบุคคลทั่วไป มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งจะต้องเดินทางโดยต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมายและยกเว้นยานพาหนะ เพื่อการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์โทรคมนาคม แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ยานพาหนะกู้ชีพ กู้ภัย รถพยาบาล รถฉุกเฉินทางการแพทย์ รถที่ใช้สำหรับภารกิจของทางราชการ รถขนพัสดุและสิ่งพิมพ์
/ข้อ 2 ให้นายอำเภอ….
-2-
ข้อ 2 ให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดจุดตรวจคัดกรองภายในเขตพื้นที่ โดยให้หารือร่วมกับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดจุดตรวจคัดกรองให้เกิดความเหมาะไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อยานพาหนะที่สัญจรไปมา ให้นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดประกอบกำลังเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจคัดกรอง โดยให้นายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมายเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการประจำจุดตรวจคัดกรอง
ข้อ 3 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 13 เมษายน 2563 ถึงเวลา 23.59 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2563 (รวมทั้งสิ้น 14 วัน) หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขอความร่วมมือให้ประชาชนพักอาศัยอยู่ในเคหสถานหรือที่พำนักของตน โดยให้มีการเดินทางออกนอกเขตเคหสถานหรือที่พำนักของตนให้น้อยที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ทั้งนี้มอบหมายให้นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยให้ประชาชนมีผลกระทบน้อยที่สุด (ตามแนวทางและมาตรการที่จังหวัดจะแจ้งให้ทราบเป็นลำดับต่อไป)
ข้อ 4 ให้นายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย กำกับการสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่หรือผู้ที่ผู้กำกับมอบหมาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้า และห้ามมิให้มีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ หากพบผู้กระทำความผิดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
ข้อ 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ดังต่อไปนี้
- ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตร่วมกับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบุคลากรเข้าไปตรวจวัดไข้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลทุกคน หากพบผู้ใดมีอาการซึ่งเข้าข่ายที่ต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะต้องถูกส่งไปแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการ ยังสถานที่ที่จังหวัดกำหนด
- ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ ทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ ถนน บ้านพักอาศัย ร้านค้าในเขตที่รับผิดชอบ โดยการฉีดฆ่าเชื้อทั้งหมดทุกหลังคาเรือน
- ตามที่จังหวัดได้มีคำสั่งปิดโรงแรมแล้วตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 หากมีโรงแรมใดในพื้นที่ จำเป็นจะต้องให้พนักงานเข้าไปปฏิบัติงานด้านการบัญชี การซ่อมบำรุง หรืออื่นๆ ให้โรงแรมจัดหาที่พักภายในโรงแรมให้พนักงานจนกว่าปฏิบัติหน้าที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายพนักงานซึ่งอาจจะเป็นพาหะในการกระจายของโรค และต้องแจ้งจำนวนและรายชื่อพนักงานที่พักภายในโรงแรมให้ที่ทำการปกครองอำเภอทราบ เพื่อตรวจคัดกรองผู้เข้าพักทุกคนหากผู้เข้าพักคนใดมีอาการเข้าข่ายที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะต้องถูกส่งไปแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการ ยังสถานที่ที่จังหวัดกำหนด
ข้อ 6 ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบและจัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในระยะเวลาประมาณ 14 วัน โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนอาศัยอยู่ในเคหสถานหรือที่พำนักของตน อย่าให้เกิดความตระหนกต่อการดำเนินการในครั้งนี้
การดำเนินการตามคำสั่งฉบับนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตทุกคน เพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ยุติลงโดยเร็วที่สุด และการดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้ใช้สิทธิโต้แย้งได้ ตามความมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
/หากผู้ใด…
-3-
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
สั่ง ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563
(นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก….
กรมประชาสัมพันธ์ สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต