ภูเก็ตวางกฎให้ 4 ท่าเรือ เข้มด้านความปลอดภัย รับท่องเที่ยวทางทะเลโต
จังหวัดภูเก็ตเร่งปรับปรุงพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยกำหนด 4 กฎเหล็ก ด้านความปลอดภัย ให้ 4 ท่าเรือทั้งของรัฐและเอกชนต้องปฏิบัติเคร่งครัดพร้อมกันนั้นกงสุลสาธารณรัฐจีนสนับสนุนงบติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ท่าเรืออ่าวฉลอง 2 ตัว ส่วนปัญหาไลฟ์การ์ด รปภ.นักท่องเที่ยวตามชายหาดของ อบจ.ภูเก็ต ด้วยการจ้างเหมาเกือบครบทุกหาดแล้ว
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงการโครงการปรับปรุงและยกระดับท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ว่าการท่องเที่ยวทางทะเลเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ท่าเรือมีความสำคัญมากในการรองรับการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้จัดโครงการปรับปรุงและยกระดับท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้การให้บริการของท่าเรือได้มาตรฐานระดับสากล โดยจะนำร่องด้วย 4 ท่าเรือ ทั้งที่เป็นท่าเรือของรัฐและเอกชน ประกอบด้วย
ท่าเรือรัษฎา ของอบจ.ภูเก็ต แต่ได้ให้สัมปทานกับบริษัท ซีทราน ในการบริการจัดการ
ท่าเรืออ่าวฉลอง บริหารโดยอบจ.ภูเก็ต
ท่าเรืออ่าวปอ ที่เอกชนได้รับสัมปทาน
และ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า
ซึ่งทั้ง 4 ท่าเรือเป็นท่าเรือที่มีนักท่องเที่ยวใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในการเดินทางไปท่องเที่ยวยังเกาะแก่งต่างๆ ในพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ และพังงา
สำหรับท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่ง จะต้องปรับปรุงและพัฒนาใน 4 เรื่องหลักๆ คือ
1.เรือจะต้องปลอดภัยก่อนออกจากท่า โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดผู้โดยสารที่ต้องผ่านท่าเรือดังกล่าว เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร จำนวนในแต่ละวัน เสื้อชูชีพครบตามจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งเกี่ยวกับการแจ้งรายละเอียดผู้โดยสารนั้น ทางดีป้ากำลังพัฒนาระบบการป้อนข้อมูลผู้โดยสารก่อนเดินทางลงชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแจ้งกับทางท่าเรือไดล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการ
2.เรือทุกลำจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเจ้าท่าอย่างเข้มงวด ตัวเรือจะต้องผ่านเกณฑ์ของเจ้าท่า ผู้ขับเรือจะต้องมีใบนายท้ายเรือ พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบถ้วน
3.เรือทุกลำจะต้องมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับฝั่งในการตรวจติดตามหรือให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หากเกิดอุบัติเหตุ และ
4. ตั้งศูนย์ปฏิบัติการประสานการช่วยเหลือทางทะเล เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสีย โดยศูนย์นี้จะเน้นการทำงานในวันหยุด เพราะในวันปกติธรรมดา มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว
โดยท่าเรือทั้ง 4 ที่เป็นโครงการนำร่อง มีความพร้อมในการดำเนินการให้เป็นไปตาม 4 มาตรการหลัก เช่น ท่าเรืออ่าวฉลอง ทาง อบจ.ภูเก็ต จะมีการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร ซึ่งทาง อบจ.จะมีการปรับปรุงในหลายๆ ส่วน เช่น การทำที่กั้นเพื่อนับจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละวันว่าผ่านท่าเรือมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ติดตั้งกล้อง CCTV ที่สามารถสแกนใบหน้าของผู้โดยสารได้ โดยร่วมมือกับทาง DEPA ภูเก็ต และอื่นๆ ด้วยงบประมาณปี 61 จำนวน 29 ล้านบาท และนอกจากนี้มีโครงการที่จะก่อสร้างโป๊ะจอดเรือเพิ่ม เป็นต้น
ในขณะที่ท่าเรืออ่าวปอ หลังจากเอกชนเข้ามาดำเนินการได้มีการพัฒนา ติดตั้งกล้อง CCTV ดูแลความสะอาดรอบๆบริเวรท่าเรือ และเข้มงวดในเรื่องของเรือที่จะออกจากท่าจะต้องปฏิบัติตามกฎของเจ้าท่าอย่างเข้มงวด รวมทั้งจะมีการจัดทำสายรัดข้อมือที่มีข้อมูลรายละเอียดของผู้โดยสารและประกันภัยสำหรับผู้โดยสารที่ผ่านท่าเรือทุกๆคน
ขณะที่ท่าเรือรัษฎาได้จัดทำในส่วนของที่กั้นเข้า-ออกท่าเรือ พร้อมเพิ่ม CCTV ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละวันมีผู้โดยสารผ่านท่าเรือรัษฎาเป็นจำนวนมาก
นายนรภัทร กล่าวเพิ่มว่า สำหรับท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 25,000 – 30,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือให้ได้มาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเมืองท่องเที่ยวทางทะเลอย่างภูเก็ต
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมเล็กองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ โยธารักษ์ ผู้อำนวยการกองกิจการขนส่ง อบจ.ภูเก็ต ได้รับมอบเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนงบประมาณติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ณ บริเวณท่าเทียบเรือท่องเที่ยวอ่าวฉลอง จาก นางหม่า ชุ่ยหง รองกงสุลใหญ่และหัวหน้าสำนักงานกงสุลประจำภูเก็ต ของสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลา
ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้แจ้งความประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลา เพื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพิ่มเติม จำนวน 2 กล้อง ณ บริเวณท่าเทียบเรือท่องเที่ยวอ่าวฉลอง พร้อมอุปกรณ์ติดตั้งและค่าติดตั้ง ภายในวงเงิน 200,000 บาทนั้น
ในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลา ได้พิจารณาแล้วเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)บริเวณท่าเทียบเรือท่องเที่ยวอ่าวฉลอง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท
สำหรับด้านการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาดในความรับผิดชอบของ อบจ.ภูเก็ตนั้นโดยเฉพาะเรื่องไลฟ์การ์ด (Life Guard) ที่เป็นปัญหาคาราคาซังนั้น นายเสถียร แก้วพระปราบ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาโครงการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง หรือ Life Guard ในพื้นที่ชายหาดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้จัดทำโครงการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง Life Guard เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ประสบเหตุขณะลงเล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดต่างๆในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 12 ชายหาด แต่เนื่องจากบริเวณหาดแหลมสิงห์ ในพื้นที่บริเวณทางลงหาดเป็นพื้นที่เอกชนซึ่งได้มีการปิดทางลงสู่ชายหาด จึงได้ย้ายจุดปฏิบัติงานดังกล่าวไปยังบริเวณชายหาดป่าตองทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ดำเนินการ 11 แนวชายหาด โดยมีพนักงาน Life Guard ทั้งสิ้น 98 คน ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างปีงบประมาณ 2560 วงเงินงบประมาณ 16,566,000.- บาท สัญญาได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2560 โดยสัญญาได้เริ่มวันที่ 20 ม.ค.6 0 ถึง 30 ก.ย. 60 ทำให้ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง Life Guard ที่ขาดความต่อเนื่อง เนื่องด้วยภายหลังจากที่อบจ.ภูเก็ตได้เปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจยื่นซองประมูลปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายได้สนใจยื่นซองประมูล
อบจ.ภูเก็ตจึงแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการจ้างเหมาพนักงานรักษาความปลอดภัยชายฝั่งออกเป็นแต่ละแนวชายหาดไปแล้วจำนวน 7 หาด โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 เป็นต้นมา ประกอบด้วย ชายหาดในหานจำนวน 2 จุดพนักงาน Life Guard 6 คน, ชายหาดยะนุ้ยจำนวน 1 จุดพนักงาน Life Guard จำนวน 2 คน, ชายหาดกมลาจำนวน 3 จุด พนักงาน Life Guard 7 คน, ชายหาดป่าตองจำนวน 7 จุดพนักงาน Life Guard จำนวน 21 คน, ชายหาดสุรินทร์จำนวน 2 จุด พนักงาน Life Guard จำนวน 6 คน, ชายหาดบางเทาจำนวน 5 จุด พนักงาน Life Guard จำนวน 11 คน, ชายหาดในทอนจำนวน 2 จุด พนักงาน Life Guard จำนวน 5 คน และชายหาดไม้ขาว จำนวน 2 จุด พนักงาน Life Guard จำนวน 5 คน รวมจุดปฏิบัติงาน 24 จุด พนักงาน Life Guard จำนวน 63 คน ในส่วนของหาดกะตะ,หาดกะรนและหาดในยางขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง พนักงาน Life Guard เป้าหมาย 32 คน โดยคาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆนี้ ซึ่งขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารเรือ อป.พร.และอาสาสมัครคอยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอยู่
นายเสถียร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดซื้อจัดจ้างโครงการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง Life Guard วงเงินงบประมาณ 16,500,000.บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือนนั้น อยู่ระหว่างการประกาศเชิญชวนหาผู้รับจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ. ศ. 2560 โดยกำหนดเวลาดำเนินการ ทั้งกระบวนการยื่นซอง กระบวนการเปิดซอง ประกวดราคา ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 อบจ.คาดว่าในการเปิดยื่นซองรอบที่ 2 นี้ จะมีผู้ประกอบการมายื่นซองอย่างแน่นอน แต่หากไม่มี ทาง อบจ.ได้หาทางแก้ปัญหาไว้แล้ว ด้วยการจ้างเหมาพนักงานรักษาความปลอดภัยชายฝั่งเหมือนที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีกในปีต่อๆไป เพราะจากการหารือร่วมกันระหว่างจังหวัดภูเก็ต อบจ.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะแก้ปัญหาด้วยการให้ท้องถิ่นว่าจ้างแต่ละหาดและแต่ละท้องถิ่น โดยอบจ.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในส่วนที่สามารถอุดหนุนได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว