วาระยามเช้าผู้ว่าฯจี้งานยิบ ดีเดย์กุมภาขุดคูคลองแก้น้ำท่วม
ผู้ว่าฯ ประชุมวาระยามเช้า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข กำชับทุกหน่วยงานเร่งดำเนินงานขับเคลื่อนตอบสนองนโยบาย จี้ตามงานตลาดประชารัฐ เร่งให้ประชาชนได้ค้าขาย ส่วนสัญญานไฟควนดินแดง ตำรวจบอกอีก 7 วัน ที่ท่าเรืออ่าวฉลองย้ำเรื่องกล้อง CCTV บนโป๊ะ ด้านแก้ปัญหาน้ำท่วม บอกจัดงบให้ 517 ล้านบาท ดีเดย์ กุมภาพันธ์ 61 เป็นเดือนขุดลอกคูคลอง พร้อมฝากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้คงไว้ตลอดไป หลังพบช่วงปีใหม่ 61 มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการกว่า 4,000 คน เพื่อสร้างความปลอดภัยและเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเมืองท่องเที่ยวระดับโลก
เมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2560 เวลา 07.00 น.เศษ ในการประชุมวาระยามเช้า บำบัดทุกข์บำรุงสุข ติดตามงานของ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ห้องประชุมจวนผู้ว่าราชการ โดยมี นายสนิท ศรีวิหค นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว และ นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง 3 รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, ทหาร, ตำรวจ, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
นายนรภัทร ได้ติดตามประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิ การจัดสรรพื้นที่ค้าขาย ตามโครงการตลาดประชารัฐซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, สำนักงาน ธกส.จังหวัดภูเก็ต, บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดภูเก็ต(วิสาหกิจเพื่อชุมชน) จำกัด ซึ่งผลการดำเนินการได้จัดสรรพื้นที่ให้กับประชาชนได้ค้าขาย ในพื้นที่ตลาดประชารัฐ ทั้ง 7 ประเภทที่ประชาชนได้ลงทะเบียนไว้จำนวน 1,074 คน ขณะนี้จัดสรรพื้นที่ไปแล้ว กว่า 600 ราย คิดเป็นร้อยละ 62 สั่งการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเร่งปรับพื้นที่ตลาดที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่ประตูเมืองหรือ Gateway ควรมีการจัดทำซุ้มเพื่อเพิ่มพื้นที่การจำหน่ายสินค้าให้แก่ประชาชน ในส่วนของการอบรมความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ และการแต่งตั้งผู้บริหารจัดการตลาดประชารัฐ (CMO) ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนรีบดำเนินการเขียนโครงการการอบรมเสนอต่อจังหวัดเพื่ออนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ในส่วนของประชาชนที่ลงทะเบียนในโครงการเอาไว้ที่เหลืออีกร้อยละ 38 ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งติดต่อไป และทำความเข้าใจว่าได้ดำเนินการอยู่ในระดับใด เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการจัดสรรพื้นที่ตลาดประชารัฐ
เรื่องที่ 2 ที่ประชุมได้ติดตามการแก้ไขปัญหาการเปิดใช้สัญญาณไฟจราจรบริเวณสามแยกควนดินแดง ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในเรื่องนี้สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ตได้มีการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสถิติจำนวนรถที่วิ่งผ่านบริเวณดังกล่าว เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยใช้ประกอบวางแผนการเปิดใช้สัญญาณไฟจราจรในพื้นที่อำเภอเมือง ให้เป็นไปอย่างถูกต้องสอดคล้องกัน และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน7 วัน ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, เทศบาลตำบลรัษฎา และแขวงการทางภูเก็ตมาร่วมพูดคุยเพื่อวางแผนร่วมกันต่อไป
และเรื่องที่ 3 ได้ติดตามการบริหารจัดการศูนย์ควบคุมจราจรทางน้ำจังหวัดภูเก็ต (VTMS) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เรื่องนี้ นายนรภัทร กล่าวว่า อยากให้ มีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด สำหรับการติดตั้งกล้อง CCTV ปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องอยู่แล้วจำนวน 8 ตัว ติดตั้งบนฝั่ง 5 ตัวและบริเวณสะพานจำนวน 3 ตัว โดยกล้องทั้ง 8 ตัวจะบันทึกภาพรถ และผู้คนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง และมีโครงการที่จะติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มอีก ในบริเวณโป๊ะท่าเทียบเรือทางด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อบันทึกภาพบันทึกใบหน้าผู้โดยสารที่ขึ้นลงเรือ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการใช้ระบุและแสดงตัวตนของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว และเป็นการเพิ่ม มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ “ภูเก็ตเมืองสมาร์ทซิตี้” และ “ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เรื่องที่ 4 นายนรภัทร กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดการจัดแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมจังหวัดภูเก็ตขึ้น โดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศและได้จำแนกลุ่มน้ำของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 30 ลุ่มน้ำ ใช้พิจารณาการจัดทำมาตรการและแผนงานให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ในคาบ 20 ปี และคาบ 50 ปี เพื่อให้เกิดการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน เกิดการบูรณาการแผนงานโครงการร่วมในทุกภาคส่วน ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 517 ล้านบาท ในการดำเนินการขุดลอกคูคลอง การขยายท่อระบายน้ำ มอบหมายให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการขุดลอกคูคลอง เดือนละ 2 ครั้ง และให้เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งการขุดลอกคูคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ส่วนเรื่องที่ 5 นายนรภัทรได้กล่าวถึงเรื่องที่ทางจังหวัดได้ตั้ง และเปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยว tourist. Service centerในระดับพื้นที่ 9 จุด ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต 5 จุด ตั้งอยู่ ในพื้นที่ หาดกะตะ, หาดกะรน, หาดในหาน, แหลมพรหมเทพ และสะพานท่าเทียบเรือหาดราไวย์ อำเภอกะทู้ 2 จุด ในพื้นที่ หาดป่าตอง และ หาดกมลา และ อำเภอถลาง 2 จุดในพื้นที่ หาดสุรินทร์ และ หาดในยาง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561
ปรากฏว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ จำนวน 9 จุดดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2560 – 4 มกราคม 2561 รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,532 ราย โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ เพื่อสอบถามข้อมูลทั่วไป ได้แก่ สอบถามเส้นทางการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ, จุดให้บริการห้องน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ, จุดให้บริการรถเช่า รถโดยสารสาธารณะ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุ
นายนรภัทร กล่าวว่า จากการที่ จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 15 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้มีการสรุปผลการเข้ามาใช้บริการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมาก ดังนั้นทางจังหวัดจะยังคงให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไปทั้ง 9 จุด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยกระดับจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวนานาชาติบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
ต่อมาวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 4 / 2561 โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ,นายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต,นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต, นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต, หัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชน เข้าร่วม
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดการจัดแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมจังหวัดภูเก็ตขึ้น โดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศและได้จำแนกลุ่มน้ำของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 30 ลุ่มน้ำ ใช้พิจารณาการจัดทำมาตรการและแผนงานให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ในคาบ 20 ปี และคาบ 50 ปี เพื่อให้เกิดการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน เกิดการบูรณาการแผนงานโครงการร่วมในทุกภาคส่วน ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 517 ล้านบาท ในการดำเนินการขุดลอกคูคลอง การขยายท่อระบายน้ำ มอบหมายให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการขุดลอกคูคลอง เดือนละ 2 ครั้ง และให้เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งการขุดลอกคูคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต