วิทยาลัยเทคนิคถลาง เร่งผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ให้ประเทศไทยมีสถานที่ซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ และป้อนอุตสาหกรรมการบิน ด้วยคุณภาพเต็มร้อย
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 25 มิ.ย.61 พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา และคณะ เดินทางมายังวิทยาลัยเทคนิคถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อเยี่ยมชมและให้นโยบายการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรช่างอากาศยาน ซึ่งเปิดสอนเป็นแห่งแรกในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา
พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจเยี่ยมการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ตในวันนี้ เพื่อต้องการมาดูการเรียนการสอนหลักสูตรช่างอากาศยาน เพื่อส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และจากการนำเสนอข้อมูลการเรียนการสอน ทำให้ทราบว่า หลักสูตรการเรียนการสอนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต เป็นการผลิตบุคลากรด้านช่างฯที่ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด และวิทยาลัยเทคนิคถลาง เป็น 1 ใน 6 วิทยาลัยอาชีวะที่มีการเรียนการสอนช่างบำรุงอากาศยานในเฟสแรก และจะมีการขยายต่อไปในเฟสที่ 2 ในจังหวัดที่มีสนามบิน
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอปัญหาด้านการเรียนการสอนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในเรื่องของครูผู้สอนที่มีความรู้ความชำนาญค่อนข้างที่จะขาดแคลน เนื่องจากค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าการทำงานในภาคเอกชนนั้น ได้มอบหมายให้เลขาคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา รับไปดำเนินการในเรื่องนี้
ด้าน นายณัฐพันธ์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานกรรมการ บริษัท เคส เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า หลักสูตรช่างอากาศยานเกิดขึ้นได้เพราะความตั้งใจของอาจารย์ที่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง และในช่วงแรกตนไม่เชื่อว่าจะสามารถเกิดหลักสูตรนี้ และสามารถบริหารจัดการให้สำเร็จได้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องยอมรับว่าทำสำเร็จแล้ว โดยส่วนตัวแล้วเป็นห่วงเรื่องครูผู้สอน เพราะค่าตอบแทนน้อย ใครที่มีความสามารถด้านนี้ เมื่อเป็นช่างในสายการบินค่าตอบแทนจะสูงกว่าการเป็นบุคลากรทางการศึกษาหรือครูผู้สอน จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครคิดมาเป็นครูในสาขานี้ จึงฝากรัฐมนตรีช่วยพิจารณาในเรื่องค่าตอบแทนสำหรับครูผู้สอนหลักสูตรช่างอากาศยานด้วย
ขณะที่ นางสาวกชกร บุษราภรณ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคนิคถลางได้ริเริ่มทำหลักสูตรช่างอากาศ ร่วมกับ นายสุเทพ ยงยุทธ ผู้อำนวยการในขณะนั้น และนายสมศักดิ์ ไชยโสดา รองผู้อำนวยการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในวงสนทนาระหว่างผู้บริหารวิทยาลัยกับ พ.อ.อ.ดร.พชรภณ วีระกิจพานิช นายช่างอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำสถานีภูเก็ต ซึ่งเรียกร้องความต้องการของการใช้บุคคลกรและให้ข้อมูลการขาดแคลนบุคคลากรในวงการบินจนตกผลึกร่วมกันและทำหลักสูตรด้วยกัน พร้อมทั้งดึงเครือข่ายคณาจารย์มาสนับสนุนการสอน จนกระทั้งปัจจุบันได้เสนอหลักสูตรต่อคณะกรรมการการอาชีวะศึกษาในปี 2558 ได้รับอนุมัติและปรับปรุงให้เป็นหลักสูตรอินเตอร์เท่ากับการเรียนการสอนทั่วโลกตามมาตราฐานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
โดยปัจจุบัน มีนักศึกษาจบหลักสูตรช่างอากาศยานแล้วสองรุ่น โดยรุ่นแรกจบการศึกษา จำนวน 22 คน ได้ทำงานในอุตสาหกรรมการบินทั้ง 22 คน ส่วนรุ่นที่ 2 จบการศึกษาทั้งสิ้น 27 คน ขณะนี้กำลังทยอยเข้าทำงานตามสายการบินต่างๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่า รุ่นแรกที่จบการศึกษาไปนั้น มีอัตราเงินค่าตอบแทนจาการทำงานที่สูงกว่าสาขาช่างอื่นหลายเท่าตัว”
ขณะที่ นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง กล่าวว่า กำลังเริ่มทำหลักสูตรธุระกิจการบิน ซึ่งเป็นหลักสูตรของการอาชีวศึกษาแห่งแรกเช่นกัน หลักสูตรนี้สามารถเชื่อมโยงจากพื้นฐานอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ในปี 2562
สำหรับ การผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานอุตสาหกรรมการบิน ของวิทยาลัยเทคนิคถลาง เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสนับสนุนให้มีสถานที่ซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ในประเทศไทย และล่าสุดเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นายกรัฐมนตรี ได้เป็นสักขีพยานการลงนามร่วมทุนระหว่างบริษัท แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศล และบริษัท การบินไทย โดยผุดศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ ที่อู่ตะเภา จ.ชลบุรี