ว่าด้วยเรื่องน้ำท่วมภูเก็ต ชาวบ้านเดือดร้อนซ้ำซาก
อาจจะดูเป็นเรื่องปกติของใครบางคน กรณีฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเพื่อรอการระบายในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในระยะหลังๆ ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจะมีจุดใหญ่ๆ ที่เกิดปัญหาซ้ำซากไม่กี่จุด เช่น หน้าซุปเปอร์ชิปใหญ่ ย่านสามกอง เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้ขยายวงกว้างไปหลายจุด โดยเฉพาะในเขตย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเริ่มจะเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าช่วงเวลาที่น้ำท่วมขังจะไม่กินเวลานานมาก แต่เมื่อมีภาพข่าวปรากฏออกไปตามสื่อต่างๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวก็ตามมา นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่กระทบกับชาวบ้านทั่วไปเมื่อมีน้ำเอ่อล้นจากลำคลองเข้าสู่บ้านเรือน และทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ว่าอาจจะไม่มาก แต่หากเกิดบ่อยครั้งก็คงไม่ดีนัก
ปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายดูเหมือนว่าจะเป็นคำพูดติดปากของหน่วยงานที่รับผิดชอบไปแล้ว แม้จะดูเหมือนว่า ได้พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า หากทำเต็มที่จริงทำไมแก้ปัญหาไม่ได้ และจุดที่เกิดปัญหาหนักๆ ก็เป็นจุดเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หากจะโทษว่าเป็นความมักง่ายของคนบางคนว่า มีการทิ้งขยะต่างๆ ลงในลำคลองหรือพื้นที่ต่างๆ เมื่อฝนตกลงมาก็มีการชะเอาขยะหรือวัสดุต่างๆ ลงมาบนถนนและติดอยู่ตามตะแกรงท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นกันค่อนข้างชินชา รวมถึงภาพของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องไปคอยเก็บเอาขยะที่ติดตามตะแกรงออก เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก
การโทษกันไปมาคงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาและจะทำให้บาดหมางกันโดยใช่เหตุ แต่ควรมาร่วมกันหาวิธีการในการแก้ไขให้ได้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพราะปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในภูเก็ตนั้นคงไม่ได้กระทบเฉพาะคนภูเก็ตซึ่งเป็นเจ้าของอาคารบ้านเรือนหรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปในวงกว้าง คนที่ไม่เคยน้ำท่วมเข้าไปในบ้าน น้ำเข้าไปในรถ ทรัพย์สินจมน้ำขนย้ายไม่ทัน ก็คงไม่รู้สึกอะไร มองง่ายๆ ว่า น้ำระบายไม่ทัน เดี๋ยวฝนหยุดแล้วทุกอย่างก็จะกลับสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งดูจะง่ายไปหรือหรือเปล่าในการแก้ปัญหา หรือต้องการปัดให้ผ่านๆไปที
อีกปัญหาที่พบกรณีของน้ำที่ไหลเข้าสู่ในย่านตัวเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า หากสังเกตทิศทางการไหลของน้ำที่เข้ามาในตัวเมือง นอกจากการไหลมาจากพื้นที่ข้างเคียงแล้ว น้ำจากอีกจุดที่ไม่ควรมองข้าม คือ น้ำจาก 2 เขาหลักในเมืองภูเก็ต คือ เขารังกับเขาโต๊ะแซะ ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จะพบว่า มีน้ำที่ไหลมาจากบนเขาค่อนข้างมาก จากอดีตที่เคยมีน้ำไหลลงมาเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าปัจจุบัน และจากสีของน้ำฝนที่ไหลปกติก็พบว่า สภาพน้ำมีสีดินโคลน ซึ่งสันนิฐานว่า เกิดจากการเปิดหน้าดิน และความแรงของน้ำที่เกิดขึ้น เพราะต้นไม้ที่เคยซับน้ำไว้ได้ระดับหนึ่งก็มีการแผ้วถางไปบางส่วน แต่ไม่มั่นใจว่าจะมีหน่วยงานใดสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ หรือต้องรอให้เกิดความสูญเสียก่อนจึงจะมองเห็น
อย่างที่เคยมีการพูดคุยมาโดยตลอดว่า การแก้ปัญหาต่างๆ นั้นคงอาศัยเฉพาะหน่วยงานราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา รวมถึงการสร้างจิตสำนึกไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองหรือถนนหนทางต่างๆ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ และทำให้น้ำที่จะไหลลงทะเลได้สะดวก นอกจากนี้ควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการอนุญาตสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ขวางหรือลุกล้ำทางน้ำ ตลอดจนการเปิดหน้าดินต่างๆ ด้วย หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังก็เชื่อว่าปัญหาที่เคยเกิดซ้ำซากจะค่อยๆ หมดไป