สรุปแก้ปัญหาชาวเลได้2เรื่อง ออกโฉนดทับคลองใหม่-รื้อเขื่อน
รองผู้ว่าฯภูเก็ต ประชุมกรรมการแก้ปัญหาเครือข่ายสิทธิคนจน ถกความคืบหน้าสารพัดปัญหาชาวเลราไวย์ ทั้งระบบ ได้ข้อสรุปยังไม่ชัดเจนเหมือนเดิม ปัญหาที่ดินยังอยู่ขั้นตอนของศาล ส่วนเรื่องออกโฉนดทับคลอง ทางสาธารณะให้ที่ดินออกโฉนดใหม่ ส่วนเขื่อนกันคลื่น หลังตรวจสอบไม่มีเจ้าของ ไม่ทราบใครเป็นผู้สร้าง ก็ให้รื้อถอน ชุมชนชาวเลไม่เอา แต่ให้เสนอ อนุกรรมการ ทช.ภูเก็ต สรุปข้อดี-ข้อเสียก่อน
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนของชาวเลราไวย์ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต โดยมี นายอธิวัฒน์ ยอดหวาน ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต, นายนิกร ปภากิจยศพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์, นายศุภชัย นาวิกภูมิ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ภูเก็ต, นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้แทนชุมชนชาวเลราไวย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต เป็นต้น โอกาสนี้ยังได้มีการลงตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณชายหาดราไวย์ (หน้าที่ดินเอกชน) ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนกันคลื่นติดกับชุมชนชาวเลราไวย์ด้วย
สืบเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมอบหมายให้ นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน และได้อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา และได้มอบให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ประสานหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต, องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, เทศบาลตำบลราไวย์, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่และแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนกันคลื่นในชุมชนชาวเลราไวย์
ประกอบกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แจ้งผลการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชุมชนชาวเลราไวย์ และมีความเห็น กรณีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของชาวเลราไวย์ ว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และแม้ว่าบางคดีศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้ว แต่ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา จึงเห็นว่าให้รอผลทางคดี, กรณีการออกเอกสารสิทธิทับทาง และคลองสาธารณประโยชน์ เห็นควรให้กรมที่ดินจัดทำแผนที่ออกโฉนดใหม่ โดยการนำแปลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อออกโฉนดอีกครั้ง และกรณีรื้อเขื่อนกันคลื่นซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่านั้น คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรหารือกับสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกรรีที่มีการรื้อถอนเขื่อนกันคลื่นบริเวณชายหาดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นหลักที่พิจารณากันในครั้งนี้ คือ การรื้อถอนเขื่อนกันคลื่น ซึ่งจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตอบได้ว่า ใครเป็นเจ้าของเขื่อนกันคลื่นดังกล่าว และทางสำนักงานเจ้าท่าฯ ภูเก็ต ได้เคยทำหนังสือไปถึงเอกชนเจ้าของที่ดินซึ่งอ้างเอกสารสิทธิด้านบนเขื่อนเพื่อให้ทำการรื้อถอน แต่เจ้าของที่ดินรายดังกล่าวแจ้งว่า ไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างและไม่ทราบว่าเป็นของหน่วยงานใด แต่ในการรื้อถอนเนื่องจากขณะนี้เขื่อนดังกล่าวอยู่ติดชายฝั่งทำให้ในการดำเนินการก็ต้องว่าไปตามขั้นตอน รวมทั้งจะต้องมีการพิจารณาว่า หากรื้อถอนแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรหรือไม่ โดยให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต(อนุกรรมการ ทช.ภูเก็ต) พิจารณาให้ความเห็นก่อนว่าเป็นอย่างไร นอกจากจากนี้จากการทำประชาคมหมู่บ้านซึ่งมีมติว่า ให้รื้อเขื่อนดังกล่าวออกไป
ขณะเดียวกัน นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้แทนชุมชนชาวเลราไวย์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทางชุมชนเห็นควรให้รื้อเขื่อนดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 125 เมตร ออกไป เนื่องจากขณะนี้แนวกำแพงเขื่อนบางส่วนได้พังทลายเนื่องจากการกัดเซาะ และในช่วงมรสุมคลื่นจะพัดเข้าฝั่งค่อนข้างแรง มีความสูงประมาณ 4-5 เมตร ส่งผลกระทบกับเรือประมงของชาวบ้านที่จอดลอยลำอยู่ทำให้พลิกคว่ำเสียหาย นอกจากนี้ยังกระทบกับสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อยู่ริมชายฝั่งถูกคลื่นซัดออกไปจนสูญพันธุ์ เช่น ปูลม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังจากรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ว่า จากที่ได้รับฟังทั้งจากส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวเล ในประเด็นเขื่อนกันคลื่นนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของ ในขณะที่ชาวเลนั้นต้องการให้รื้อเขื่อนดังกล่าวออกไป แต่ในการดำเนินการนั้นจะต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียด้วยว่า หากมีการรื้อถอนจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร โดยจะต้องนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะ อนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นมติ รวมถึงข้อเสนอแนะประกอบในการดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรการป้องกันผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งที่จะเกิดขึ้น ส่วนของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการรื้อถอนขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะทางชุมชนฯ ได้เสนอขอใช้งบจากโครงการไทยยั่งยืน ทั้งนี้ต้องรอมติจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก่อน