สั่ง “เปิดมีด” เถอะ!
ข่าวคราวอาชญากรรมช่วงนี้ โหดเหี้ยมอำมหิต ชวนให้คนหัวลุกประหนึ่งบ้านเมืองนี้ไม่มีขื่อไม่มีแป ใครอยากฆ่าใครก็ฆ่า ฆ่าแล้วดังเป็นข่าวใหญ่มีการแชร์มีคนกดไลค์ใน facebook และส่งต่อกันไปในทาง Line
การก่ออาชญากรรมอย่างเลือดเย็น ไม่คิดว่ามนุษย์จะทำกันได้ลงคอ ฆ่ายกครัว 8 ศพ เปรี้ยวฆ่าหั่นศพ นายสิบฆ่าแฟน ฆ่าอำพราง 3 ศพ นักเรียนถูกฟันแขน นักเรียนช่างกลไล่ฆ่ากันในห้างดังกลางกรุง ฯลฯ ทำไมเขาทำกันแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายไม่ละอายต่อบาปกันเลย
ความรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มักเกิดขึ้นในสมัยที่บ้านเมืองมีเสรีภาพ ประชาธิปไตยเต็มใบ ใครใคร่ฆ่า ฆ่า แต่มันจะไม่ค่อยเกิดในสมัยรัฐบาลแบบเผด็จการเช่นนี้
ในยุค 50 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยเรามีผู้นำเผด็จการ คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งท่านมีวรรคทองประกาศก้องต่อประชาชนว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือว่าเป็นยุคทองของการประหารชีวิต โดยมีกฎหมายพิเศษที่เรียกว่ามาตรา 17 นายกรัฐมนตรีสั่งประหารชีวิตได้เลย ผู้ใหญ่ที่เกิดทันยุคนั้นมักบ่นว่า กฎหมายสมัยนี้ไม่เด็ดขาด ไม่เหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่คดีฆ่าคน ปล้นทรัพย์ วางเพลิง จับคนร้ายได้ก็ขึ้นศาลทหารและประหารชีวิตทันที
ยุคสมัยต่อมา มีกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจครอบจักรวาลแบบนี้เหมือนกัน แต่การสั่งการนั้นต่างกัน จะออมมือ อย่างเก่งก็แค่บุกจับเข้าตาราง นาน ๆ จะจับประหารเสียที ยิ่งพอประเทศไทยเราเข้าสู่สากลมากขึ้น ความศิวิไลซ์มีอารยะ สอนให้คนไทยรู้ว่า การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่สามารถใช้วิธีการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” คือ ฆ่าคน จับได้ก็ถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกัน ทันที ทำแบบในอดีตไม่ได้ ประมาณว่า จับได้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องให้ความเป็นธรรมกับจำเลยในคดีนั้น ๆ ด้วย นี่คือ หลักสิทธิมนุษยชน
เพราะหากว่า เกิดคดีแล้ว จับผู้ต้องสงสัยได้แล้วก็รีบด่วนพิจารณาตัดสินและลงโทษไปในทันที บางครั้งเราก็คงเห็นคดีที่มีการ “จับแพะ” ซึ่งต่อมาสู้จนชนะคดี แต่ถูกลงโทษติดคุกฟรีไปหลายปี ก็มีให้เห็น
ดังนั้น เรื่องของ มาตรา 44 ที่ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอามาใช้เป็นเครื่องมือตัดถ่างข้อจำกัดในการดำเนินการเรื่องที่เป็นปัญหากับบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต คอรัปชั่น หรือมีการดำเนินการไม่โปร่งใส ซึ่งได้เห็นกันว่า ลุงตู่แกทำจริง ทั้งผู้ว่าฯ ข้าราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสอยร่วงกันเป็นทิวแถว
ก็มีคำถามว่า ทำไมไม่ใช้ ม.44 มาจัดการกับปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน
แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเก่งแต่ไปจับหมวกกันน็อค จับคนไม่มีใบขับขี่ จับคนที่ขาดการต่อทะเบียนรถ น่าจะเน้นไปที่การตรวจป้องปรามอาชญากรรม ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เน้นไปที่การตรวจค้นอาวุธปืนและอาวุธอื่น ๆ ที่อาจนำไปก่อคดีหรือก่อความรุนแรงได้
อีกเรื่อง คือ อายุของบุคคลผู้กระทำผิด จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่ให้ “ตีตั๋วเด็ก” พอเห็นเป็นเด็กและเยาวชนก็ดำเนินการแบบเบา ๆ มีวิธีการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ มากมาย จนลืมไปว่า คนที่ถูกทำร้าย ถูกฆ่า เขาก็ควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
มันเหมือนกับว่า เราแคร์นักสิทธิมนุษยชน แคร์สังคมโลกกันจนเกินไป จะแตะต้องจัดการอะไรกับผู้ร้าย ผู้ต้องสงสัย ไม่ได้เลย จับได้ก็ต้องส่งต่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยิ่งคนร้ายในคดีสำคัญ ต้องดูแลอย่างดีเหมือนไข่ในหิน ประคบประหงมยิ่งกว่าลูกในไส้ ใส่เสื้อใส่หมวกใส่แว่นดำ มีรถ มี ฮ.รับส่ง มีอาหารดี ๆ ให้กิน เพื่อไม่ให้เครียด ไม่ให้ฆ่าตัวตาย
เราทำดีกับคนร้ายมากไปหรือเปล่า มากจนรู้สึกว่า เหล่าอาชญากรมันชักได้ใจ และรู้เท่าทันสิทธิเหล่านี้แล้วคือ ไม่อยากจะคิดให้มันแรง ๆ เลยว่า สมัยก่อนที่เขาเล่นกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันสมมุติว่า นายแดงไปฆ่านายดำ แล้วหลบหนีไป นายแดงก็หลบหนีไปแบบไม่เป็นสุข เพราะกลัวว่าญาติของนายดำจะมาฆ่าล้างแค้นเอาคืน
สมัยนี้ นายแดงฆ่านายดำ ก็หลบฉากไปก่อน ถ้าเรื่องเงียบก็รอดไป พอเป็นข่าวใหญ่โตก็ค่อยออกมามอบตัว ยอมให้ตำรวจจับ ดีกว่าถูกญาติของนายดำกระทืบตาย แล้วก็เข้าไปนั่งก้มหน้าสารภาพผิดต่อสื่อมวลชน เข้าสู่กระบวนการยุติ สู้กันไปสามศาล อย่างมากก็ติดคุกหัวโตแต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องตายตกไปตามกัน
เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย อยากเห็น “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เลิกใจดีกับอาชญากร เลิกแคร์นักสิทธิมนุษยชน กันเสียที แล้วใช้ ม.44 เบิกยาแรง ๆ มาใช้กับคนร้ายในคดีดัง ให้คนที่คิดก่อคดีอีก ต้องพึงสังวรณ์ว่าอย่าทำ
การดำเนินคดีร้ายแรง อยากให้เหมือนกับเปา บุ้น จิ้น แห่งศาลไคฟง คือ ถ้าคนร้ายสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานแล้ว ท่านเปาก็ไม่ต้องใช้ทางเลือกอื่น สั่งการให้ “เปิดมีด” ประหารกันได้เลย ดูสิว่าปัญหาอาชญากรรม คดีสะเทือนขวัญจะลดลงบ้างหรือไม่?