เครือข่ายผู้ห่วงใยกฎหมายทำแท้งใหม่ ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภานายชวน หลีกภัย ผลกระทบจากกฎหมายใหม่ “เรื่องการทำแท้ง”

เครือข่ายผู้ห่วงใยกฎหมายทำแท้งใหม่
ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภานายชวน หลีกภัย
ผลกระทบจากกฎหมายใหม่ “เรื่องการทำแท้ง”

        วันที่ 25 ก.พ.64 (วันนี้) เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นำโดย พญ.สุพรรณี คูณแสง รองประธานเครือข่ายผู้ห่วงใยผลกระทบกฎหมายทำแท้งใหม่ และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขฯ เดินทางไปยื่นหนังสือ มอบให้กับ ท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่รัฐสภา คัดค้านผลกระทบจากกฎหมายการทำแท้งใหม่

          เนื่องจาก พ.ญ.สุพรรณี คูณแสง รองประธานเครือข่ายผู้ห่วงใยผลกระทบกฎหมายทำแท้ง ได้ร่วมกลุ่มกันทำงาน เพื่อทารกที่ด้อยโอกาสคลอดและร่วมกันผลักดัน ผลกระทบจากกฎหมายการทำแท้งใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ พรบ.การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 อนุญาตให้หญิงสามารถทำแท้งได้ เพียงหญิงยืนยันโดยไม่ต้องมีข้อบ่งชี้ใด ๆ จนอายุครรภ์ถึง 20 สัปดาห์ และได้สรุปถึงผลกระทบและปัญหา ดังนี้.

1. หญิงทำแท้งตนเองเป็นอันตราย
มาตรา 301 ให้หญิงทำแท้งเองได้ การทำแท้งอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือ น้อยกว่า แม้ทำโดยแพทย์โดยการใช้ยาในสถานพยาบาลที่ทันสมัย ก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถึงร้อยละ 3-14 เช่น คำนวนอายุครรภ์คลาดเคลื่อน แท้งไม่ครบ รกค้าง ติดเชื้อ หากมารดาทำแท้งตนเองยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายมากและรุนแรงขึ้น อาจท้องนอกมดลูก ตกเลือดและเสียชีวิต

2. ซ้ำเติมทุกข์ยากของหญิงนั้น
มาตรา 301 ให้หญิงทำแท้งได้โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์หรือวิธีการใด ๆ หากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ไม่ได้รับการดูแลแบบองค์รวม ไม่ถามเหตุผล ปัญหา ไม่ช่วยเหลือ ไม่เสนอทางเลือก จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้หญิงนั้นได้เลย การทำแท้งนอกจากอาจเกิดอันตรายทางกาย มีความทุกข์ความรู้สึกผิดทางใจ ยังเสียเงินเสียทอง ยุติทำแท้งแล้วยังอาจกลับมาอยู่ในสภาวะปัญหาเดิม ๆ ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์หรือทำแท้งซ้ำอีก

3. ละเมิดสิทธิเสรีภาพความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์หลายท่านมีความเชื่อทางศาสนาและถูกสอนมาให้รักษาชีวิตไม่ทำลายชีวิต ไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแท้งที่ไม่มีเหตุผลที่จำเป็นเพียงพอ หลายคนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องแม้แต่การส่งต่อไปให้แพทย์ท่านอื่นด้วยซ้ำ และยังมีปัญหาด้านกฎหมาย เช่น หากทำแท้งทารกปกติแล้วมีภาวะแทรกซ้อน หญิงและญาติมีสิทธิ์ฟ้องแพทย์ทั้งทางอาญาและแพ่ง

4. บิดาถูกละเลยจากสิทธิและความรับผิดชอบต่อมารดาที่ตั้งครรภ์
บิดาถูกละเลยต่อการใช้สิทธิในการตัดสินใจและการร่วมรับผิดชอบในการทำแท้ง ทั้ง ๆ ที่เป็นบุพการีของทารกในครรภ์

5. ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเด็กในครรภ์
ความเชื่อทางศาสนา หลักสิทธิมนุษยชนสากล และหลักฐานทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าทารกในครรภ์มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ ไม่ใช่เพียงอวัยวะหรือส่วนเกินของมารดา ทารกถูกละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ทั้ง ๆ ที่เป็นทารกที่สมบูรณ์ในครรภ์ของมารดาที่แข็งแรง ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับของบิดามารดาที่มีวุฒิภาวะและไม่ถูกบังคับขืนใจ ไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าทารกนั้นเกิดมาแล้วจะต้องมีชีวิตที่ทุกข์ทรมานหรือสร้างปัญหาให้กับมารดาและสังคม แต่กลับมีโอกาสมีชีวิตที่มีความสุขและมีโอกาสสร้างคุณูปการอย่างยิ่งให้กับมารดาและสังคมเหมือนกับเด็กทั่วไป

6. เป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางศีลธรรม และความเชื่อทางศาสนา ของชาวไทยอย่างใหญ่หลวงแบบไม่เคยมีมาก่อน
ข้อเท็จจริง คือ เครื่องมือตรวจปัจจุบันสามารถเห็นและได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นชัดเจนแม้เพียง 6 สัปดาห์ อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ มีอวัยวะครบสามารถเห็นทารกบิดแขนขาขยับตัวได้ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ทารกดูดนิ้วมือตนเองได้

มาตรา 301 ให้ยุติชีวิตทารก 12 สัปดาห์ได้ มาตรา 305 (5) ให้ยุติชีวิตทารก 20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นอายุครรภ์อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของครรภ์ครบกำหนด 38-40 สัปดาห์แล้ว

กฎหมาย มุ่งอ้างสิทธิ์ในร่างกายของหญิง เพียงแม้ยืนยันว่าจะทำแท้งก็มีกฎหมายรับรองและมีหน่วยงานพร้อมรองรับ เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ฆ่าทารกอันเป็นเลือดเนื้อของตนโดยง่าย

สังคมไทยให้ความสำคัญกับความเมตตาปรานี เอื้ออาทร ช่วยเหลือชีวิตไม่สนับสนุนการทำลายชีวิต ญาติ พี่น้อง โดยเฉพาะบิดามารดาของหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูใกล้ชิดและรักหญิงนั้นมากที่สุด แต่จากนี้ต่อไป จะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คนในสังคมจะรับรู้เห็นการทำลายชีวิตมนุษย์ที่ปกติ อยู่ทุกเมื่อ เชื่อวันว่าเป็นเรื่องปกติ เกิดความชาชินต่อการฆ่าและความโหดร้ายในจิตใจของสังคม

กฎหมายใหม่นี้ ช่วยคนส่วนหนึ่งเฉพาะหน้า แต่จะสร้างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดกาล พร้อมกับความโลภ โกรธ หลง จะเข้าครอบงำสังคมไทย อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนยากจะให้ย้อนกลับสู่มาตรฐานศีลธรรมเดิมที่เคยมี

7.ผลประโยชน์ทับซ้อน
หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นเหยื่อของปัญหาสังคม รัฐควรออกกฎหมายเพื่อเยียวยาและสนับสนุนช่วยเหลือแม่ลูกโดยเต็มกำลัง มากกว่าออกกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ทำลายชีวิต รัฐไม่ควรสนับสนุนให้เรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของหญิงและการขอทำแท้งเป็นเครื่องมืออ้างสิทธิในร่างกายของหญิงนั้น โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่เบื้องหลัง

8. ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทำแท้ง
ก่อนออกกฎหมายสภาไม่ได้ตระหนักหรือพูดถึงปัญหาที่นานาชาติหรือโลกใบนี้มีอยู่ คือการทำแท้งทารกเพศหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมานาน ปัจจุบันหลายปีที่ผ่านมา มีสถิติการเกิดของทารกเพศชายมากกว่าเพศหญิง อย่างผิดสังเกตอย่างต่อเนื่อง ชัดเจนมากในประเทศอินเดีย และจีน

           สภาไม่ตระหนักหรืออภิปรายในเทคโนโลยีปัจจุบันที่สามารถตรวจ เพื่อทราบเพศทารกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์เป็นต้นไป เพียงแค่ตรวจเลือดมารดา ได้ผลรวดเร็วใน 2-3 วัน และใบรายงานผลจะระบุความแม่นยำมากกว่า 99.99 % และปัจจุบันเป็นวิธีที่ใช้ตรวจอย่างแพร่หลายเพราะมีราคาถูกลงกว่าเดิม สภาได้มองข้ามปัญหา Gender Selection Abortion ซึ่งเป็นปัญหาในประเทศขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ประเทศ และมีโอกาสส่งผลที่จะเกิดมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมธุรกิจทำแท้งข้ามชาติในประเทศไทย เนื่องจากราคาบริการถูกและขณะนี้กฎหมาย รับรองประเทศไทยจะเสื่อมเสียจากการได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทำแท้ง ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วจากเรื่องอุ้มบุญที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย

9. ละเมิดมาตรา 77 วรรคสอง
กฎหมายนี้แพทย์ทุกสาขาในประเทศไทยซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ ไม่เคยได้รับการสอบถามความเห็นถึงปัญหาและผลกระทบอย่างเป็นระบบก่อนมีกฎหมายใหม่ออกมา มีแต่ผู้แทนบริหารของหน่วยงานสาธารณสุขจัดการประชุมและส่งตัวแทนประสานกับสภาเร่งทำกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการท้องไม่พร้อมและการทำแท้ง

1. ขยายการสอนเพศศึกษา การคุมกำเนิด เผยแพร่ปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในสถานศึกษา

2. บังคับใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล อย่างแท้จริง สนับสนุนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใส่ครั้งเดียวมีฤทธิ์คุมกำเนิดนาน 5 ปี เพิ่มแรงจูงใจ เข้าถึงง่าย ขยายจุดบริการ และวันเวลา เสริมในสถานเอกชน หรือหนึ่งตำบลหนึ่งศูนย์คุมกำเนิด

3. สร้างมาตรการให้ชายร่วมรับผิดชอบคุมกำเนิดหากไม่พร้อม สร้างกฎหมายร่วมรับผิดชอบ เช่นกฎหมายเลี้ยงดู (พิสูจน์ง่ายโดยตรวจ DNA) บังคับใช้กฎหมายโดยบังคับจ่าย ณ ต้นทางของแหล่งเงินเดือน และหากบิดพริ้วมีมาตรการเป็นขั้นบันได เช่น ในต่างประเทศ

4. รัฐจัดงบประมาณและมีระบบรองรับช่วยเหลือ เพื่อเป็นทางเลือกให้หญิงเปลี่ยนใจไม่ทำแท้ง
เพื่อช่วยเหลือขณะตั้งครรภ์ จนถึงคลอดบุตร รัฐดูแลหลังคลอดทั้งแม่ และลูก มีแผนดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ติดตามจนกว่าจะดูแลตนเองและลูกได้ รัฐให้ทุนสนับสนุนการศึกษา และการกินอยู่ ให้มีระบบติดตาม เป็นการลงทุนสร้างประชากรคุณธรรมและคุณภาพของชาติ ในยุคสังคมผู้สูงวัย

5. เสริมสร้างคุณค่าของสถาบันครอบครัวและศาสนา ให้หน่วยงานรัฐ/เอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นที่พึ่งพิงได้ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจสังคม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่มารดาแต่เพียงผู้เดียว

6. การยุติการตั้งครรภ์ควรทำโดยแพทย์ ในทุกกรณี ในสถานบริการที่มีความพร้อม มีข้อบ่งชี้เพียงพอ ทุกการทำแท้งต้องผ่านการให้คำปรึกษา ทางเลือกการช่วยเหลือ

7. หากจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์สามารถใช้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐเพื่อลดการทำแท้งเถื่อน และไม่บังคับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ไม่สมัครใจ

8. หลังทำแท้งต้องแนะนำและให้บริการคุมกำเนิด ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันท้องไม่พร้อมซ้ำและทำแท้งอีก

9. หากหญิงทำผิดกฎหมายทำแท้ง ฝ่ายชายผู้เป็นพ่อหากเป็นผู้สนับสนุนต้องร่วมรับผิด

10. เปิดเบอร์โทรฉุกเฉิน เพื่อหญิง ปรึกษาทุกปัญหา คุมกำเนิดฉุกเฉิน คุกคามทางเพศ ตกใจตั้งครรภ์ ปรึกษาพร้อมมีศูนย์รับส่งต่อช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

11. ขอให้ชะลอการบังคับใช้ และ ใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมต่อไปก่อน หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่มีกรอบเวลา และไม่มีธงคำตอบล่วงหน้า