เชฟกระทะเหล็ก ร่วมมือเชฟท้องถิ่น รังสรรค์นวัตกรรมอาหารภูเก็ต City of Gastronomy
ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (PKRUBI) จัดโครงการ Phuket City of Gastronomy กิจกรรม “นวัตกรรมอาหารกับภูเก็ตเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร รุ่นที่ 1” โดยมี ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมด้วย ผศ.ดร.วิภาวรรณ บัวทอง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ นางสาวขนิษฐา ธนาวิรัตนานิจ ผอ.PKRUBI ตลอดจนผู้ประกอบการร้านอาหาร เชฟ และ ประชาชนเข้าร่วมทำกิจกรรม ณ โรงแรมเดอะพาโก้ ดีไซน์ และ ภัตตาคาร Blue Elephant Phuket
สำหรับ การจัดงานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทยWorkshop การประกอบอาหารสร้างสรรค์โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นภูเก็ต ได้แก่ หมี่ฮกเกี้ยนผัดขี้เมาทะเล หอยติบผัดเคยเค็ม ขนมจีนน้ำพริกผัดฉ่าซีฟู้ดกุ้งเสียบ ผัดเผ็ดทะเลกุ้งเสียบ แกงส้มปลาทรายผักกูด ยำผักเหมียงกุ้งกรอบ โสร่งข้างเหลือง สาหร่ายพวงองุ่นแช่น้ำปลา พร้อมกันนี้มีการบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิด Green Farming พฤติกรรมผู้บริโภค Gastronomy Tourism และการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ โดย รศ.ดร.สุรชัย จิวเจริญสกุล การแปรรูปครบวงจร “คนหัวเห็ด” โดยหมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ การฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์เบเกอรี่ของฝากจากสับปะรดภูเก็ต ได้แก่ ทาร์ตสับปะรดและเปี๊ยะสติ๊กโดยคณะวิทยากรจากศูนย์คลินิกเทคโนโลยีสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ การแข่งขันประกวดเมนูอาหารสร้างสรรค์
โดย ผศ.ดร.วิภาวรรณ บัวทอง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Phuket City of Gastronomy ผ่านการจัดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมกับร้านอาหาร ผู้ประกอบการ และประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารท้องถิ่นตั้งแต่กระบวนการผลิต การเฟ้นหาวัตถุดิบ และออกแบบเมนูใหม่ที่ผสมผสานเสน่ห์และรสชาติต้นตำรับแบบ Phuket Local Foods ผนวกกับวัฒนธรรมการกินและการท่องเที่ยวร่วมสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ที่สามารถยกระดับความเป็นอาหารสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ สมกับการได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็น City of Gastronomy แห่งเดียวของภูมิภาคอาเซียนตลอดจนตอบสนองเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 20 ปี เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10”
ทางด้าน นางสาวขนิษฐา ธนาวิรัตนานิจ ผอ.PKRUBI ได้กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงการต่อยอดเอกลักษณ์ทางด้านอาหารของภูเก็ต ซึ่งเป็นโมเดลอาหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ หากเมนูต่างๆ ไม่มีการต่อยอดและพัฒนาให้สอดคล้องกับกระแสทางวัฒนธรรมและมีการออกแบบผลิตภัณฑ์จากอาหารท้องถิ่นให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ความนิยมของอาหารท้องถิ่นภูเก็ตอาจจะไม่สามารถอยู่ในกระแสได้ในระยะยาว ทั้งนี้ การเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์อาหารระดับประเทศ อาทิ เชฟชุมพล สุดยอดเชฟระดับประเทศ รศ.ดร.สุรชัย นักวิชาการผู้มีประสบการณ์ด้าน Gastronomy รวมถึงการสนับสนุนของ Blue Elephant ร้านอาหารไทยระดับโลก ที่ได้ร่วมมือถ่ายทอดศาสตร์ด้านการทำอาหารทุกกระบวนการ ซึ่งคาดหวังว่าผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมคอร์สในครั้งนี้ จะสามารถนำเทคนิคไปพัฒนาเมนูอาหารเพื่อการค้า อีกทั้งเป็นการยกระดับ City of Gastronomy สร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่อไป