เช็ดน้ำตาแล้วมาร่วมมือกัน
คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลก ได้ร่วมกันส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างพร้อมเพรียงพร้อมใจกัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560
ประเทศไทยในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง คนไทยจะต้องน้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต พัฒนาสังคม และช่วยกันสร้างชาติสร้างประเทศไทยของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยถึงรับสั่งสุดท้าย ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในขณะประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช พระหัตถ์แตะที่ไหล่ของ ดร.สุเมธและตรัสว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จ” ถึงสามครั้ง
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนดูจากกระแสสังคมแล้ว ความดีและความถูกต้องยังแยกแยะกันไม่ออก จึงมีความเป็นห่วงคนไทยทั้ง 65 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนนึกถึงแต่เรื่องเงินทอง ที่พังพินาศเพราะนึกถึงเพียงเรื่องนี้ แต่ลืมนึกไปว่าเงินทองจะมีคุณค่าหากแผ่นดินมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทุกคนจึงควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ใช่ให้จน
แต่เน้นเรื่องประโยชน์สุข ใช้เงินและงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ทุจริต โดยพระองค์ท่านได้ทรงเตือนหลายครั้งว่า ทุจริตแม้แต่บาทเดียวขอให้มีอันเป็นไป ขณะเดียวกันขอให้ทุกคนมีขันติในใจ อย่าโกรธแล้วตีกันไล่ฆ่าฟันกันบนถนน เพราะตัวอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งพระองค์ทรงรับสั่งว่า ท่านไม่มีอำนาจชี้ให้ใครถูกหรือผิด ซึ่งที่ผ่านมาพระองค์ท่านก็ได้ออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ โดยทรงเตือนสติกลับคืนมา ว่าไม่มีประโยชน์อะไรบนซากปรักหักพังของบ้านเมือง จำประโยคนี้กันได้หรือไม่
“ผมขอเถอะ บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงทำทุกอย่างให้ดู เตือนทุกอย่าง อยู่ที่เราจะทำตามหรือไม่ เพื่อส่งต่อแผ่นดินให้ลูกหลาน หรือเราจะส่งแผ่นดินเลวๆ เน่าๆ แบบนี้เหรอ พวกเราเรียกพระองค์ท่านว่าพ่อ แต่พ่อทำทุกอย่างให้เรามา 70 ปีแล้ว เหลือแค่เราทำต่อไปไม่ใช่เพียงชื่นชมและน้ำตาไหล ต้องเช็ดน้ำตาแล้วมาร่วมมือกัน ท่านเหนื่อยมาเยอะแล้ว”
คำว่า “ต้องเช็ดน้ำตา แล้วมาร่วมมือกัน” เป็นคำที่ดีมาก เป็นเหมือนการเตือนสติคนไทยที่ยังมีอารมณ์ร่วมและอยู่ในอาการโศกเศร้าจากการสูญเสียครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะเศร้าโศกกันเพียงใด เมื่อหวนดูพระราชกรณียกิจตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกาย ทรงงานอย่างหนัก เพื่อคนไทยทั้งประเทศ
คนในชนบทที่ห่างไกล คนยากจน ทรงพระกรุณาพระราชทานความช่วยเหลือในลักษณะที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เช่น การพัฒนาพื้นที่ทำกิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาอาชีพ หรือแม้จะเป็นคนในเมือง ทรงมีโครงการช่วยเหลือ เช่น มูลนิธิพระดาบส มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งในยามที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ทรงชี้ทางออกให้กับบ้านเมือง ยุติความขัดแย้ง สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
ดังนั้น คนไทยต้องเข้มแข็ง ตั้งสติตั้งสมาธิให้ดี รีบเช็ดน้ำตา แล้วลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาประเทศ ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ทำให้ดี ทำภายใต้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ มองถึงการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง มองถึงการสร้างความภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง สังคม และประเทศชาติ สำคัญที่สุด ต้อง “รู้รักสามัคคี” ตามที่พ่อหลวงได้ทรงมีรับสั่งเตือนสติไว้
โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ออกทุกข์แล้ว คนไทยพึงอยู่ในอาการสำรวม ไม่กระทำในสิ่งที่แสดงออกในความบันเทิง รื่นเริงมากไปจนเกินงาม เกินพอดี และก็ไม่ใช่อยู่ในอาการซึมเศร้า คือ ทำตามปกติที่เคยทำ และถ้าจะเพิ่มได้ ก็คือ เพิ่มการทำความดีเพื่อพ่อหลวงของเรา
อะไรที่จะเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ที่ส่อไปให้เกิดความขัดแย้ง ต้องระมัดระวัง และไม่ต้องถึงขนาด จับผิดเอาเป็นเอาตายกัน ช่วยกันทำสิ่งที่ดีงามให้มาก ๆ คนที่ทำไม่ดี ไม่งาม ถ้าหากว่าตักเตือนได้ก็ตักเตือน ไม่ต้องถึงกับออกโรงด่าทอออกแรงลงไม้ลงมือกัน แบบนั้นบ้านเมืองไม่สงบ
สรุปก็คือ คนไทยที่รักในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องมีความอดกลั้น ข่มใจให้มาก ๆ กับการสูญเสีย ต้องคิดเสมอว่า ถ้ารักพระองค์ท่านก็ต้องทำความดีตลอดไป ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาของการถวายอาลัยเท่านั้น ทำดีต้องทำให้ได้ตลอดไป
ประเทศไทยจะเดินหน้า ถ้าประชาชนชาวไทย “เช็ดน้ำตา แล้วมาร่วมมือกัน”