เปิดตัวโครงการ “ตาสับปะรด” เฝ้าระวังปัญหาขยะ-น้ำเสีย
จากการเติบโตของการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีผลดีในแง่ของเศรษฐกิจ แค่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากการเติบโตของการท่องเที่ยวดังกล่าว ที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะมูลฝอยล้นเมืองและการลักลอบปล่อยน้ำเสียทั้งที่มาจากชุมชนและสถานประกอบการ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการแก้ปัญหาเป็นการด่วน เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวที่ขายความเป็นธรรมชาติเป็นหลัก รวมทั้งทำลายทัศนียภาพของเมืองด้วย
จากปัญหาดังกล่าวทางพ่อเมืองภูเก็ต “นรภัทร ปลอดทอง” จึงไดมีการจัดทำโครงการตาสับปะรดเฝ้าระวังขยะมูลฝอยและน้ำเสียจังหวัดภูเก็ต ขึ้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมของบ้านเมืองในฐานะเจ้าบ้านที่ดี อีกทั้งเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ ทําหน้าที่เฝ้าระวังและกำกับติดตามปัญหาน้ำเสียและขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเน้นให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในพื้นที่ของตนเองได้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและจังหวัดภูเก็ต สมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกนำไปสู่ความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตลอดไป
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต มีระบบบำบัดน้ำเสียที่เดินระบบอยู่ 4 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลเมืองกะทู้ และเทศบาลตำบลกะรน มีความสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 71,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีระบบบำบัดน้ำเสียขององ๕การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลที่เพิ่มก่อสร้างแล้วเสร็จและพึ่งเริ่มเดินเครื่องระบบไม่นาน และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลืออีก 13 แห่งที่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย
ในส่วนของการจัดการขยะมูลฝอย แม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ รองรับการกำจัดขยะมูลฝอยครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยมีเทศบาลนครภูเก็ต เป็นผู้บริหารจัดการ ปัจจุบันมีปริมาณขยะส่งมายังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเฉลี่ย 850 ตันต่อวัน และมีอัตราเพิ่มของปริมาณขยะมูลฝอยอยู่ที่ ร้อยละ 7 ต่อปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาขยะมูลฝอยที่ถูกลักลอบทิ้งตามที่รกร้างและข้างทางที่ยังขาดการดูแลอย่างไม่ทั่วถึง อันส่งผลให้เกิดทัศนียภาพอุดจาด และผลกระทบด้านกลิ่นต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว
หากปัญหาของน้ำเสียและขยะมูลฝอยดังกล่าวไม่ไดรับการแก้ไข และไม่มีการณรงค์สร้างจิตสำนึกของคนในพื้นที่ย่างเร่งด่วน ก็จะทำให้ลดทอนความสวยงามและความเป็นเมืองท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตลงอย่างน่าเสียดาย ซึ่งในการแก้ปัญหานั้นคงอาศัยหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงไม่เพียงพอ และไม่ทันกับสถานการณ์ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายมาช่วยกันดูแล เพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านของทุกคนที่อยู่อาศัยร่วมกันและจะต้องช่วยกันดูแลรักษา เพื่อให้มีความสะอาดและสวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น มาท่องเที่ยวแล้วก็อยากมาอีก รวมทั้งไปบอกต่อ ซึ่งจะเกิดผลดีในแง่ของธุรกิจ และเกิดความยั่งยืนตลอดไป