เยาวชนกว่า 28 ประเทศ สัมผัสวัฒนธรรมภูเก็ต
โรตาแรคท์ประเทศไทยนำเยาวชนกว่า 28 ประเทศ ร่วม 1,000 คน พบปะ เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการประชุมโรตาแรคท์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 14 ที่ภูเก็ต จัดกิจกรรมให้สัมผัสวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ชื่นชมทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.00 น. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโรตาแรคท์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 14 หรือ 14 Asia Pacific Region Rotaract Conference (APRRC 2017) ซึ่งโรตาแรคท์ประเทศไทยร่วมมือกับมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักลักษณ์ของชาติจัดขึ้น ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมฮิลตัน อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อให้โรตาแรคท์จากต่างประเทศได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และวัฒนธรรม รวมไปถึงการนำเสนอกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญา วิถีชีวิตท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ค.2560 โดยได้รับพระบรมราชานุญาติให้ ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ดร.สุวิทย์ ยอดมณี เลขาธิการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และประธานอนุกรรมาธิการกิจการเด็กและเยาวชน หม่อมหลวงอนุพร เกษมสันต์ กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ นายวัฒนพร ตั้งสง่า ประธานการจัดงานการประชุมโรตาแรคท์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 14 ผู้ว่าการภาค 3350 โรตารีสากล ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเยาวชนจากประเทศต่างๆ กว่า 28 ประเทศ เข้าร่วม
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม Asia Pacific Region Rotaract Conference (APRRC 2017) ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับการจัดประชุมระดับนานาชาติ และศักยภาพของเยาวชนไทย ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนไทย และต่างประเทศพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และยังเป็นโอกาสที่ชาวต่างประเทศได้สัมผัสกับวิถีชุมชนเรียนรู้ และเข้าใจความเป็นอยู่ของผู้คน ชื่นชมความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณีไทย และเสน่ห์ที่น่าหลงใหลของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
ด้าน นายวัฒนพร ตั้งสง่า ประธานการจัดงานการประชุมโรตาแรคท์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 14 กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ ว่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชการที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ภายใต้แนวคิด การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Sufficiency Economy and how to adapt to daily life” และการประชุมในครั้งนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น การทำอาหารไทย มวยไทย รำไทย การแกะสลักผลไม้ และการทำว่าวไทย เป็นต้น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ใน 11 ชุมชนของจังหวัดภูเก็ต เช่น การปลูกป่าชายเลน การทำกิจกรรมนันทนาการกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การเก็บขยะชายหาด รวมถึงการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวประมง และวิถีความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพอาหารของคนในท้องถิ่นอีกด้วย
สำหรับในปีนี้ มีชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน จาก 28 ประเทศ และคนไทยประมาณ 300 คน ซึ่งประชุมโรตาแรคท์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้โรตาแรคท์จากต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม ได้พบปะแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ และวัฒนธรรม รวมไปถึงการนำเสนอโครงการบริการต่างๆ ที่โรตาแรคท์ได้จัดทำเพื่อชุมชน สังคม และประเทศในรอบ 1 ปี ทั้งเป็นการเสริมความรู้ให้แก่เหล่าโรตาแรคท์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาความเป็นผู้นำ และทำให้เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งนี้ยังส่งเสริมมิตรภาพ สันติสุข ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และความร่วมระหว่างสโมสร ภาค และประเทศ ในรูปแบบของสโมสรคู่มิตรและโครงการบริการระหว่างประเทศ อันนำไปสู่โครงการบำเพ็ญประโยชน์ในวงกว้าง และระดับนานาชาติ
สำหรับการประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2547 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 700 คน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเป็นการประชุมที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 9 เมื่อปี 2555 ที่กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) การจัดแสดงผลงานเอกลักษณ์ของชาติและผลิตภัณฑ์จากทั่วทุกภาคของประเทศโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การจัดจำหน่ายสินค้าโดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่นการสร้างเป้าหมายในการทำกิจกรรม การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดผลสูงสุด เป็นต้น การแสดงทางวัฒนธรรม การจัดซุ้มของดีเด่นของแต่ละประเทศ การประกวดโรตาแรคท์ อีกด้วย