แจงกม.ใหม่นายจ้างต่างด้าว ป้องกันข้อหา “การค้ามนุษย์”
จัดหางานจังหวัดภูเก็ต ตีเกราะเคาะปี๊บ เรียกนายจ้างและผู้ประกอบการที่ว่าจ้าง แรงงานต่างด้าวประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายบริหารจัดการ แรงงานต่างด้าวฉบับแก้ไข ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการป้องกันการค้ามนุษย์ ด้านแรงงานต่างด้าวจังหวัดภูเก็ต ที่โรงแรม แกรนด์สุพิชฌาย์ อ. เมือง จ. ภูเก็ต โดยมี นายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต นายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด พ.ต.อ. เสริมพันธ์ ศิริคง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าร่วม
นายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานว่า จังหวัดภูเก็ต มีนายจ้างและสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม ในปัจจุบันจำนวน 10,651 ราย และมีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 63,250 ราย เป็นสัญชาติเมียนมา จำนวน 61, 321 ราย สัญชาติลาว จำนวน 822 ราย สัญชาติกัมพูชาจำนวน 1,014 ราย และสัญชาติเวียดนาม จำนวน 93 ราย โดยแยกเป็นแรงงานต่างด้าวที่พิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 60,162 ราย แรงงานนำเข้า MOU จำนวน 3,088 ราย
ดังนั้น นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ จึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ ระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ตลอดจนลักษณะและองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าวและการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมถึงหน้าที่ของนายจ้างที่พึงปฏิบัติต่อลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างแรงงานต่างด้าวต่อไป
ด้าน นายประกอบ กล่าวเปิดการอบรมว่า ตามที่จัดหางานจังหวัดภูเก็ตมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ยังคงมีความจำเป็นสำหรับนายจ้างและผู้ประกอบการต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจึงจำเป็นจะต้องรู้ถึงสิทธิ หน้าที่ ระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ที่เพิ่งใช้บังคับเพื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ตลอดถึงลักษณะและองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งการสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันทำให้การทำงานทำธุรกิจราบรื่นตลอดไป