แอพพลิเคชั่น Bus Beam ต่อยอดนโยบาย รถใช้ GPS
“ขนส่งจังหวัดภูเก็ต” เปิดตัว แอพพลิเคชั่น Bus Beam ในโครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการรถโดยสารประจำทางจังหวัดภูเก็ตผ่านแอพพลิเคชั่น “Smart Bus Smart Passengers” ขณะเดียวกันได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและทดลองใช้แอพพลิเคชั่นในโครงการพัฒนาการเข้าถึงบริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางผ่านแอพพลิเคชั่น ระหว่างสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต กับบริษัท แท็กซี่-บีม จำกัด, บริษัท ภูเก็ตมหานคร จำกัด, บริษัท นครบริการขนส่ง จำกัด, บริษัท วาระรัศมีมหานคร จำกัด, บริษัท พันทิพย์ (๑๙๗๐) จำกัด และ หจก.โอเอสทัวร์ ด้วย
สำหรับ Application Bus Beam มีความหมายว่า “ลำแสงส่องหารถบัส” สามารถใช้ได้ทั้งในระบบ Android และ IOS ดาวน์โหลดได้จาก Play Store และ App Store มีการทดลองใช้ใน 5 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางในจังหวัดภูเก็ต เส้นทางหมวด 4 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสนามบิน – สถานีขนส่งผู้โดยสาร 1 และ 2 และเส้นทางสนามบิน- ป่าตอง, 2. รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดในรถหมวด 3 ในจังหวัดที่เชื่อมโยงกันในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี สงขลาและภูเก็ต ซึ่งการเดินทางภูเก็ต-นครศรีธรรมราช มี 2 เส้นทาง คือภูเก็ต-ทุ่งสง- นครศรีธรรมราช และเส้นทางภูเก็ต-ลานสกา-นครศรีธรรมราช, เส้นทางภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี มี 1 เส้นทาง และจากจังหวัดนครศรีธรรมราช-สงขลามี 2 เส้นทางคือ เส้นทางนครศรีธรรมราช- สงขลา และเส้นทางนครศรีธรรมราช- หาดใหญ่ รวมทั้งเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ด้วย เบื้องต้น Application Bus Beam มีโปรแกรมการใช้งานเป็นภาษาไทย โดยคาดว่าในเดือนมกราคม 2561 จะมีการพัฒนาโปรแกรมเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย
สำหรับการจัดทำแอพพลิเคชั่น Bus Beam นั้น เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน เป็นการเชื่อมคนเชื่อมรถแล ผู้โดยสารรอคอยแบบ “รู้รถ รู้เวลา” โดยเป็นการต่อยอดนโยบาย มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าถึงได้สะดวก รวมทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ในภาคการขนส่งของจังหวัดภูเก็ตและภาคใต้
ระยะเริ่มต้นในส่วนของจังหวัดภูเก็ต มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมแล้ว 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท วาระรัศมีมหาธานี จำกัด, บริษัท นครบริการขนส่ง จำกัด, บริษัทพันทิพย์ (๑๙๗๐) จำกัด บริษัทภูเก็ตมหานคร จำกัด และ ซึ่งการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้นั้น เป็นการเพิ่มทางเลือก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการที่มีความทันสมัยทันสถานการณ์ อำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคดิจิตัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามนับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการรถบริการสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้ทันยุคทันสมัย แม้ว่าในระยะแรกอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะยังต้องมีการปรับปรุงให้ไปถึงความสามารถในการจองตั๋วโดยสาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษาที่ใช้ เป็นต้น เนื่องจากยุคนี้มีการแข่งขันสูง ฉะนั้นต้องหาวิธีการเพิ่มอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด