เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ผลักดัน “กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์”
เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ผลักดัน “กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์”
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ห้องประชุม ชั้น4 เทศบาลตำบลกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน เปิดการประชุมครั้งที่ 1 รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนส แซนด์บ็อกซ์) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในการแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ได้แสดงความคิดเห็นในแนวทางการพัฒนากะรนเป็นเมืองสุขภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบูรณาการ การออกแบบเมือง และแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองสุขภาพ โดยมี รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต, เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน, นายวินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน, นายก้าน ประชุมพรรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน ม.อ.ภูเก็ต, ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ, ผู้ประกอบการโรงแรมในเขตพื้นที่ตำบลกะรน, ผู้นำชุมชน, ประชาชนในพื้นที่ตำบลกะรน และผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพ สำหรับผู้บริหารทั้งจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมทั้งในห้องประชุม และจากระบบออนไลน์ Zoom Meeting
สำหรับโครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์) มีที่มาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คนมีคุณภาพ และจะทำให้ประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) หรือ 10 อุตสาหกรรม S-Curve โดยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะดำเนินการต่อยอด
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องศึกษา และพัฒนาการบริการด้านสุขภาพต่อไปอย่างเข้มข้นให้มีความทันสมัย ด้วยวิธีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือด้านการตลาดควบคู่กันไป