DSIสอบรุก“เขานาคเกิด”อีก ข้องใจโฉนดที่เขาหินอ่าวเสน
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมป่าไม้ ปีน “เขานาคเกิด” ตรวจสอบการบุกรุกถือครองป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกขานาคเกิดตามที่ได้มีผู้ร้องเรียน ในท้องที่เขตกะรน จากการตรวจเอกสารพบพิรุธหลายขั้นตอน แล้วลุยต่อเข้าตรวจสอบการปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศหรูบนเขาอ่าวเสน พื้นที่ราไวย์น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเพราะเป็นภูเขาหิน
เมื่อวันที่ 28กันยายน 2560 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมคณะมี พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ นายไพศาล หนูพิชัย หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.2 (ภูเก็ต)เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงตรวจสอบสภาพพื้นที่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ม.1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า มีการบุกรุกยึดถือครอบครอง และออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื้อที่ 8 ไร่ และได้มีการนำไปจำหน่ายให้เอกชนรายหนึ่งในราคา 250 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ และมีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมเต็มพื้นที่
ต่อจากนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบนเขาบริเวณอ่าวเสน บ้านกระทิง ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า บริเวณดังกล่าว มีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรู และพบว่าเมื่อปี พ. ศ. 2553 มีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ดิน 5 เลขโฉนดที่ดิน 96799 หน้าสำรวจ 3778 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ระวาง 4624 / 2258 มีเนื้อที่ 30-31 -59.1 ไร่ การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นการขอออกโฉนดเอกสารสิทธิเฉพาะราย โดยไม่มีเอกสารแจ้งการครอบครองมาก่อน และผู้ขอออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะเป็นการออกโดยไม่ถูกต้อง
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จุดแรกที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ม.1 ต.กะรนว่าเนื่องจากได้รับการร้องเรียนแจ้งว่า มีผู้บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โฉนดที่ดินเลขที่ 89530 หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ได้มีผู้มายื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต โดยใช้หลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 131 หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เนื้อที่ 8 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่มีผู้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี พ.ศ. 2498 และมีการมาใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดแต่ผลจากการสำรวจรังวัดแล้ว ปรากฏว่าเนื้อที่ 37-0-58 ไร่ ซึ่งเกินจาก ส.ค. 1 ถึง 29-0-58 ไร่ และพบว่าที่ดินที่มีการนำรังวัดขอออกโฉนดนั้นอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร และเขต สปก. ประกอบกับคำให้การของผู้แจ้ง ส.ค.1 ที่เคยให้ไว้กับเจ้าพนักงานที่ดินว่า บริเวณที่ดินที่มีการยื่นขอรังวัดออกโฉนดนั้นไม่เคยแจ้ง ส.ค. ไว้แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตยกเลิกคำขอออกโฉนดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนำเอกสาร ส.ค. 1 เลขที่ 131 ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ และได้แจ้งให้ทางผู้ขอออกโฉนดทราบ
“ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ผู้ขอออกโฉนดรายเดิม ได้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตว่า ไม่ขออุทธรณ์คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ผ่านมาแต่ขอใช้สิทธินำคำขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่ได้แจ้งการครอบครองที่อ้างว่า มีผู้ครอบครองที่ดินคนก่อนเคยยื่นคำขอไว้เมื่อปี พ. ศ. 2532 ก่อนออกกฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ.2537) แต่ได้ยกเลิกคำขอไปก่อนแล้ว โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินต่อมาจากผู้ครอบครองคนก่อน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตได้รับคำขอไว้ โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวทางกรมที่ดินเคยมีมติว่า ผู้ครอบครองต่อเนื่องสามารถนำคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่ผู้ครอบครองคนก่อนเคยยื่นขอออกโฉนดที่ดินและขอยกเลิกคําขอไปแล้วมาใช้ยื่นออกโฉนดที่ดินใหม่ได้ จนกระทั่งมีการดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 89530 เนื้อที่ 8 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานที่ดินสรุปเรื่อง นำเสนอต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (สมัยนั้น) ซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ลงนามอนุมัติการออกโฉนดที่ดินในวันที่ 7 สิงหาคม 2551 เช่นเดียวกัน และส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ตรับทราบเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 กระทั้งต่อมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปีเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าของโฉนด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ในราคา 250 ล้านบาท” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว
ในส่วนของการออกสารสิทธิไม่ชอบ ได้ส่งเรื่องให้ ปปช.ไปดำเนินการแล้ว ในส่วนของที่ตรงนี้คงจะมองเรื่องของการบุกรุก คือบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ที่ดิน
ด้าน พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าที่ดินแปลงนี้น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้อง โดยมีการขอออกโฉนดที่ดินเมื่อปี 2553 ฉบับเดียว ผู้ขอออกเป็นกลุ่มบุคคล 2 คน แปลงที่ดินจะเป็นแนวยาวพาดไปตามสันเขาจนถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น พบว่าเจ้าของเดิมมีการนำที่ดินดังกล่าวมาให้เช่าเป็นระยะเวลานาน 30 ปี แต่ละโซน และต้องตรวจสอบต่อไปว่า มีการจำหน่ายไปแล้วหรือยัง โดยอยู่ระหว่างการประสานงานกับทางกรมที่ดิน รวมทั้งต้องตรวจสอบต่อไปด้วยว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องบ้าง เพราะเอกสารสิทธิมาขอออกในปี 2553 จึงต้องมาดูว่ามีการออกถูกต้องหรือไม่อย่างไร ส่วนกรณีของอาคารหรูที่สร้างบดบังทัศนียภาพและเป็นประเด็นทางโซเซียลนั้น ก็จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่า การขอออกโฉนดเป็นการขอออกเฉพาะรายตามมาตร 59 ทวิ คือ อ้างการครอบครองตั้งแต่ก่อนปี 2498 ต้องมาดูว่าทำประโยชน์จริงหรือไม่ เป็นที่สงวนหวงห้ามหรือไม่ หรือเป็นที่ที่สามารถออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่”
“จากสภาพพื้นที่พบว่าเป็นปลายเขาที่แหลมลงมาในทะเล จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศเบื้องต้น พบว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นภูเขาหิน และมีดินเล็กน้อย จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงเบื้องต้น พบว่า บริเวณพื้นที่ออกเอกสารสิทธิและพื้นที่ใกล้เคียงมีหน้าดินตื้น พื้นที่เป็นหินส่วนใหญ่ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชทางการเกษตรได้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนเกาะมีลักษณะเป็นภูเขาติดทะเล ซึ่งตามระเบียบ การออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่เกาะ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 14 ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังต่อไปนี้ ..(2) ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามตามมาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดิน” พ.ต.ท.มนตรี กล่าว