ว่าคนทำ“ลิง”เสียนิสัย ให้อาหารกินจนขี้เกียจ

       จังหวัดภูเก็ตระดมความคิดเห็นแก้วิกฤตลิงแสม – ลิงกัง ทั้งระบบ ใน 7 พื้นที่ หลังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ว่าต้องทำให้เป็นรูปธรรม และเกิดจากการมีส่วนร่วม และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาส่วนใหญ่เริ่มต้นจากคน ทำให้ลิงนิสัยเสีย เอาอาหารไปให้ จนลิงขี้เกียจออกหากิน ด้าน สนช.จัดสัมมนาแก้ “วิกฤตลิง” เล็งใช้ 5 เกาะพื้นที่ภูเก็ตเป็นต้นแบบสร้าง “นิคมลิง” ผู้ว่าฯ บอกอนุมัติ 9 แสนบาทแก้ทั้งระบบ ทำหมัน ก่อนย้ายไปเกาะ พร้อมออกมาตรการคู่ขนานห้ามให้อาหารลิง

       จังหวัดภูเก็ตเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแก้ปัญหาลิงแล้ว ประเดิมพื้นที่เมืองที่ซอยท่าจีนรุกหนักรื้อหลังคาค้นข้าวของในบ้านกว่า 300 ตัว เห็นด้วยให้ทำหมันลดจำนวนและย้ายบางส่วนไปอยู่บ้านที่ใหม่ที่เหมาะสม

แก้วิกฤตลิง2สายพันธ์

ประชาพิจารณ์ 7 พื้นที่

        จากกรณีที่ปรากฏว่า ปัจจุบันมีลิง 2 สายพันธ์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวบ่อยครั้ง สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ มีหลายพื้นที่ได้มีการสนับสนุนให้อาหารเลี้ยงลิง จนมีทั้งรถเข็น สามล้อพ่วง แผงลอยไปตั้งขายผลไม้สำหรับจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวซื้อเลี้ยงลิง จนในที่สุดทำให้ลิงไม่ยอมออกหากินตามธรรมชาติ และสร้างปัญหาความเดือดร้อนรำคาญให้กับนักท่องเที่ยว ถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ และทางจังหวัดได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงแสม และลิงกัง รวมทั้งการคุมจำนวนประชากรลิงทั้งสองสายพันธ์ดังกล่าว ไม่ให้มีปริมาณมากจนไป

          เรื่องนี้ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า ทางจังหวัดได้จัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อเคลื่อนย้ายลิงไปอยู่ในพื้นที่เกาะที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ และอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ ฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการดังนี้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00-12.00 น จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาลิง ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (สุดซอยท่าจีน) วันที่ 24 พฤษภาคม2561 เวลา 09.00-12.00 น  ณ ศูนย์ประชุมคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดภูเก็ต (เยื้องจุดชมลิงเกาะสิเหร่) วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00-12.00 น  ที่บริเวณหอฉันวัดเจริญสมณกิจ(วัดหลังศาล) วันที่ 27 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00-12.00 น  ที่บริเวณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติกิ่งแก้วพัฒนา (สุดซอยกิ่งแก้ว ซอย 9)  และวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00-12.00 น  รับฟังความคิดเห็นบริเวณพระอุโบสถชั้นล่าง วัดเขารังสามัคคีธรรม

         ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาลิงของจังหวัดภูเก็ตมีผลเป็นรูปธรรม และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความร่วมมือ และความต้องการของประชาชน จึงอยากให้ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที ประชาพิจารณ์ และรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาลิงทั้ง 2 สายพันธ์ ในวันและเวลาที่กำหนด  เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม โดยมีพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

        อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดจากลิงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ลิงในจังหวัดภูเก็ตที่มีปัญหามีจำรวน 7 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ยามู ต.ป่าคลอก, กิ่งแก้ว ซอย 9, ท่าจีน ต.รัษฎา ทั้ง 3 จุดดังกล่าว ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากลิงบุกรุกทำลายทรัพย์สิน นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่ท่าเรือบางโรง ต.ป่าคลอก เขาโต๊ะเซะ และเขารัง ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต  ทั้ง 3 จุด ดังกล่าว มีปัญหาในเรื่องการไปแย่งอาหาร และรบกวนนักท่องเที่ยว จุดสุดท้าย คือที่จุดชมลิงเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต จุดนี้เป็นจุดที่มีลิงแสม อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีปัญหาเรื่องของความสกปรก

        นอกจากนั้นจากการสำรวจพบว่ายังมีอีก 3 จุด ที่มีปัญหาเรื่องของลิงไปรบกวนชาวบ้าน แต่หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปพุดคุยกับชาวบ้านที่นำอาหารไปให้ลิง และขอความร่วมมือในการหยุดให้อาหาร ทำให้ปัญหาอยู่ระดับที่ควบคุมได้ ประกอบด้วย บริเวณบ้านคอเอน ต.ไม้ขาว ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่มีการให้อาหารลิง ทำให้ลิงไม่ต้องออกไปหาอาหาร เมื่อไม่ต้องออกหาอาหารทำให้ลิงมีเวลาว่างมาก และมีการผสมพันธ์จนออกลูกออกหลานเป็นจำนวนมาก และยังมีที่บริเวณป่าชายเลนคลองเกาะผี เขตเทศบาลนครภูเก็ต และบริเวณพระใหญ่ ต.ฉลอง

       ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากคนไปสร้างนิสัยให้กับลิง ด้วยการนำอาหารไปให้ ทำให้ลิงเสียนิสัย ไม่ยอมออกไปหากิน ต่างมานั่งรอขออาหาร เมื่อมีคนหรือนักท่องเที่ยวถือของ หรืออาหารมาก็จะเข้าไปแย่ง หรือกัดจนได้รับบาดเจ็บ

สนช.ร่วมถกปัญหา

สร้างนิคมลิงภูเก็ต

         จะอย่างไรก็ตาม ที่รัฐสภาเมื่อเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงใน จ.ลพบุรีอย่างยั่งยืน) โดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการกล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า ปัญหาลิงเป็นปัญหาความเดือดร้อนประเภทหนึ่ง จากบรรดาสัตว์หลายชนิด นอกจากหมา แมว นกพิราบ ซึ่งได้มีการพูดถึงแนวทางการทำหมัน จนมีการออกกฎหมาย การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเพื่อแก้ปัญหาสัตว์ถูกทิ้ง และปัญหาลิงก็เป็นความท้าทาย เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่มีความฉลาด ว่องไว ไปไหนได้รวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการลำบาก ซึ่งพื้นที่ที่มีวิกฤตเรื่องลิง ต้องเตรียมความพร้อมร่วมกัน

        จากนั้น นายวัลลภได้มอบแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤตให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดที่เป็นพื้นที่วิกฤตของลิง เพื่อให้จังหวัดนำไปบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ครอบคลุม 11 จังหวัด คือ

        1.ประกอบด้วย จ.กระบี่ ตรัง ภูเก็ต อำนาจเจริญ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกรุกล้ำและคุกคาม โดยจะมีวิธีจัดการด้วยการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง โดยเฉพาะการให้อาหาร จัดทำป้ายเตือนห้ามให้อาหารลิง และควบคุมปัญหาขยะ ไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ของลิง

       2.ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลิงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติถูกล้อมรอบด้วยชุมชน มีวิธีจัดการคือ การเคลื่อนย้ายลิง และหาสถานที่รองรับลิงแห่งใหม่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งทำหมันลิงก่อนการเคลื่อนย้าย และ

       3.ประกอบด้วย เพชรบุรี มุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยลิงที่ถูกทับซ้อนด้วยพื้นที่ชุมชน จำเป็นต้องสร้างนิคมลิงเพื่อรองรับลิงทั้งหมดที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่ที่มีปัญหา โดยทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นที่ก่อนว่า สามารถอยู่กับลิงได้หรือไม่ หากพื้นที่ใดยินยอมที่จะอยู่กับลิงต่อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดการทำหมันควบคุม ส่วนพื้นที่ใดที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับลิงก็จะเข้าสู่แผนบริหารจัดการนิคมลิงต่อไป

        ขณะที่การอภิปราย แนวทางบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต ตามแผนแม่บทจัดการปัญหาลิงที่ จ.ลพบุรี เป็นต้นแบบด้านการจัดการนั้น นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ในเขตเมืองลพบุรีมีลิงอาศัยอยู่กว่า 2,200 ตัว กระจายตามอำเภอต่างๆ รวมกว่า 1 หมื่นตัว โดยในปี 2560-2561 จ.ลพบุรีได้จัดการควบคุมประชากรลิง ที่อยู่ในเขตเมืองไปแล้ว 6 ครั้ง มีการทำทะเบียนลิง และปัจจุบันมีลิงเพิ่มขึ้นมาเพียง 800-1,000 ตัว เป็นผลมาจากการจัดการควบคุมประชากร

      ด้าน นายชัยณรงค์ ดูดดื่ม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวถึงแนวคิดการสร้าง “นิคมลิง” ว่า สิ่งสำคัญที่สุด ต้องทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่และศึกษาผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ยังหาบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ เนื่องจากทีโออาร์เข้มงวดมาก หากสุดท้ายหาไม่ได้ ต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจง โดยเบื้องต้นพื้นที่ที่ จ.ลพบุรี เล็งไว้คือ เขาพระยาเดินธง พื้นที่ 2,000 ไร่ แต่ทั้งหมดต้องดูผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาก่อน

        ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองประธานคณะกรรมการติดตามกลไก และพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวภายหลังการสัมมนาว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างคนกับลิงมาตลอดหลาย 10 ปี การทำหมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ไม่เพียงพอกับการเจริญพันธุ์ของลิง การทำนิคมลิงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาในอนาคต โดยยืนยันว่า กลไกต่างๆ ในการโยกย้ายลิงจะคำนึงถึงสวัสดิภาพของลิงเป็นหลัก เพราะ สนช.เป็นผู้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ด้วยตัวเอง

        ดังนั้น จะมีการจัดการอย่างดีเพื่อให้คนกับลิงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องกังวลใจว่าจะเอาลิงไปปล่อยเกาะ เพราะเป็นแค่ถ้อยคำเท่านั้น เพราะเกาะที่จะใช้เป็นนิคมลิง จะเป็นสถานที่ให้ลิงอยู่ได้อย่างมีความสุขจนถึงบั้นปลายชีวิต เรื่องนี้ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ เพราะไม่ได้เอาไปฆ่า และที่มีนักวิชาการบางฝ่ายเป็นห่วงสวัสดิภาพของลิง ก็ได้หารือกับนักวิชาการ กลุ่มคนรักลิง และคนที่มีปัญหากับลิงต่างก็ยินดีที่จะให้ความเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่การดำเนินการต้องใช้เวลา

        สำหรับพื้นที่ที่จะใช้ทำนิคมลิงนั้น เบื้องต้นจะใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ โดยมีการลงพื้นที่สำรวจเกาะ 5 เกาะที่มีความพร้อม ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลี เกาะแพ เกาะทนาน ทั้งหมดเป็นเกาะที่ไม่มีคนอยู่ อยู่ห่างไกลจากธรรมชาติ แต่เป็นแหล่งที่มีอาหารลิงอย่างสมบูรณ์ และเตรียมจะทำแหล่งรองรับน้ำจืดให้ลิงได้กิน ไม่มีกลไกมนุษย์จะมาทำร้ายลิงได้ เป็นเกาะที่มีศักยภาพ เป็นที่อยู่ของลิงได้ ไม่ได้หมายความว่า อยู่ๆ จะเอาลิงไปปล่อยเกาะ ซึ่งเมื่อไหร่มีความพร้อมถึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์กับประชาชน หากทุกฝ่ายมีข้อคิดเห็นอย่างไรก็สามารถเสนอมายัง สนช.ได้ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ลิงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เบื้องต้นเทศบาลตำบลป่าคลอก จ.ภูเก็ตจะมีประชาพิจารณ์ทั้ง 5 เกาะในพื้นที่ที่มีปัญหา หากหลายฝ่ายไม่สบายใจ ก็อาจจะแสวงหาวิธีการอื่นต่อไป

 

ภูเก็ตจัดงบ 9 แสนบาท

แก้ปัญหาวิกฤติ “ลิง”

        จากผลการสัมมนาของ สนช.แก้ปัญหาวิกฤติลิง 12 จังหวัด และได้เล็งใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดทำนิคมลิง โดยมีการลงพื้นที่สำรวจเกาะ 5 เกาะที่มีความพร้อม ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลีหรือมะลิ เกาะแพ และ เกาะทะนาน แต่จำเป็นต้องเติมให้สมบรูณ์นั้น

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำลิงบางส่วนไปไว้บนเกาะซึ่งเป็นเกาะร้างไม่มีคนอยู่อาศัย โดยได้มีการศึกษาความพร้อมของเกาะในการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพืชอาหาร แหล่งน้ำ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นมีจำนวน 5 เกาะ ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลีหรือมะลิ เกาะแพ และเกาะทะนาน

       นอกจากนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากลิง โดยเฉพาะจุดที่วิกฤตค่อนข้างมาก คือ บ้านยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง ที่จะให้ย้ายลิงบางส่วนไปไว้ที่เกาะ ซึ่งชาวบ้านก็เห็นด้วย โดยเฉพาะตัวที่ดุร้าย เนื่องจากขณะนี้ลิงได้บุกรุกเข้าไปในบ้านเรือนของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านเผลอก็จะเข้าไปรื้อค้นข้าวของภายในบ้าน  แต่ชาวบ้านเองก็ยังมีความห่วงว่า ลิงอาจจะว่ายกลับมาอีก หากอาหาร และแหล่งน้ำจืดไม่เพียงพอ

       นายนรภัทร กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นทางจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณ 900,000 บาท ในการเข้ามาดูแลบริหารจัดการ และการเคลื่อนย้ายลิงไปไว้บนเกาะ รวมทั้งการทำหมันลิง ซึ่งการดำเนินการต่างๆ มีขั้นตอนที่ชัดเจน นอกจากพื้นที่ยามูแล้วทางจังหวัดยังมีพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องลิงกับชาวบ้าน และลิงกับนักท่องเที่ยวอีก 6 จุด ซึ่งทางจังหวัดจะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ในระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคมนี้ เพื่อยืนยันแนวทางการแก้ปัญหาอีกครั้ง

        อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีข้อสรุปว่า จะย้ายลิงไปไว้บนเกาะร้างนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกประการ เริ่มทั้งแต่การสำรวจปัญหาความเดือดร้อนหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่เกาะร้างต่างๆ เพื่อถึงเวลาที่จะเคลื่อนย้ายลิงไปก็จะได้ไม่มีปัญหา และยืนยันว่า จะไม่ใช่การย้ายลิงทั้งหมด แต่จะย้ายเพียงบางส่วนเท่านั้น จากนั้นจะติดตามผลว่า เมื่อปล่อยไปแล้วเป็นอย่างไร สามารถอยู่ได้หรือไม่ เพื่อจะได้ลดปริมาณลิงบนฝั่ง และลดปัญหาที่เกิดเป็นข่าวค่อนข้างบ่อย คือ นักท่องเที่ยวถูกลิงทำร้าย 

         ส่วนใหญ่จากรายงานพบว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจากลิงนั้น เกิดจากคนที่เข้าไปรุกที่อยู่ของลิง และนำอาหารมาให้ลิง ทำให้ลิงไม่ยอมหากิน เมื่อมีอาหารไม่เพียงพอทำให้เกิดการยื้อแย่ง ทำร้ายนักท่องเที่ยว รื้อค้นทรัพย์สินของชาวบ้าน ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างนิคมลิง ด้วยการย้ายลิงบางส่วนไปอยู่ที่เกาะ ก็คือการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนให้อาหารลิง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลิงให้ออกไปหากินอาหารเอง และไม่รบกวนนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการติดป้ายเตือนประชาชน และนักท่องเที่ยวแล้วเรื่องของการไม่ให้อาหารลิง หากทำตามมาตรการที่กำหนดไว้ การแก้ไขปัญหาเรื่องลิงของจังหวีดภูเก็ตก็จะเห็นผลเป็นรูปธรรม

ถกปัญหาลิงซอยท่าจีน

เห็นด้วยทำหมันย้ายที่

         เมื่อเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. ที่บริเวณศาลาประจำบ้านหมู่บ้ายซอยท่าจีน ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแถว ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในบริเวณซอยท่าจีน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาลิงแสมที่บุกรุกเข้ามาหาอาหารภายในชุมชน เพื่อร่วมกับหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนจากลิงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นชุมชนที่สอง หลังจากที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในพื้นที่ชุมชนบ้านยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

        การเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในวันนี้ มี นายณฐวรรณ จำลองกาศ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว นายเดชาคนี ลีลานนท์ รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา นายภีรพงศ์ พิสิทธิ์คุณานนท์ ประธานสภาเทศบาลตำบลรัษฎา นายสุนทร พูนประสิทธิ์ ประธานชุมชนซอยท่าจีน และชาวบ้านเข้าร่วม โดยชุมชนนี้มีกว่า 180 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากฝูงลิงแสมบุกรุกเข้ามาหาอาหารในพื้นที่เข้ารื้อค้นภายในบ้านเรือน

        โดยทางจังหวัดได้นำเสนอว่า ปัญหาลิงก่อความเดือดร้อนให้ประชาชน ขณะนี้ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตได้รับความเดือดร้อนจากลิง 2 สายพันธ์คือ ลิงกัง และลิงแสม มี 7 พื้นที่ประกอบด้วย บ้านยามู บางโรง ในตำบลป่าคลอก เขาโต๊ะแซะ เขารัง ซอยท่าจีน ซอยกิ่งแก้ว และจุดชมลิงเกาะสิเหร่ ทางจังหวัดจึงต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป

         ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการสำรวจพื้นที่ที่อพยพย้ายลิง ออกจากชุมชนไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเป็นเกาะ 5 เกาะ มีสภาพแวดล้อมที่ลิงแสมสามารถดำรงชีพอยู่ได้ เนื่องจากทุกเกาะจะมีพื้นที่ที่เป็นป่า มีพันธุ์ไม้ขึ้น มีชายหาดที่ลิงสามารถหาอาหารที่เป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ได้ตามธรรมชาติ รวมถึงน้ำจืด ประกอบด้วย เกาะแพ เกาะทะนาน เกาะมาลี เกาะปายู และเกาะงำ เป็นต้น

        พร้อมกันนี้ทางจังหวัดจะจัดซื้อถังน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำรองน้ำไว้บนเกาะสำหรับลิงเหล่านั้นด้วย โดยลิงที่จะนำไปอยู่บนเกาะทั้ง 5 แห่งนี้ จะเป็นลิงที่ผ่านการทำหมันเพื่อไม่ให้มีการขยายพันธุ์อีก ซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะลงมาทำหมันลิงในภูเก็ตระหว่างวันที่ 5 – 25 กรกฎาคมนี้ ที่หอประชุมเทศบาลนครภูเก็ต

        แนวทางที่ทางจังหวัดกำหนดไว้ในการแก้ปัญหาลิงนั้น จะมีการเคลื่อนย้ายลิงไปยอยู่ในพื้นที่ใหม่ ควบคุมจำนวนไม่ให้เพิ่มขึ้น และงดเปิดมุมให้อาหารลิงใหม่ และลิงที่จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ก็แค่บางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมด

        อย่างไรก็ตาม ในรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ชาวชุมชนซอยท่าจีน ทั้งหมดเห็นด้วยที่จะให้มีการทำหมันลิง และให้หาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้กับลิงในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่ลิงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมไปถึงเมื่อนำไปอยู่ในที่ใหม่แล้ว จะต้องมีการติดตามถึงความเป็นอยู่ของลิงด้วย

        นางลำยอง ใคร่ครา อายุ 55 ปี ชาวบ้านชุมชนซอยท่าจีน บอกว่า ตนอยู่ที่ชุมชนนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ชุมชนไม่ได้มีปัญหากับลิงในป่าโกงกางที่อยู่ติดกับชุมชน แต่ปัญหาเริ่มมาเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีคนจากนอกพื้นที่และคนในชุมชนได้นำอาหารมาให้ลิง เพราะสงสารกลัวลิงไม่มีอะไรจะกิน หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาลิงบุกรุกเข้าหาอาหาร และรื้อสิ่งของภายในบ้าน ในวันที่ไม่มีใครนำอาหารมาให้ โดยลิงฝูงนี้จะเข้ามาหารื้อค้นหาอาหารในบ้านเรือนในช่วงที่น้ำลดวันละ 2 ครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเป็นอย่างมาก

        “ทุกวันนี้หลังคาบ้านก็ถูกลิงรื้อพังเสียหาย ของใช้ภายในบ้านก็พังไปหลายอย่าง ถามว่าอยากจะให้เอาลิงออกไปอยู่ที่อื่นไหม บอกได้เลยว่าอยากให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง เพื่อให้จำนวนลดน้อยลง และอยากจะขอวิงวอนคนที่อยู่นอกชุมชนอย่านำอาหารมาให้ลิงอีก ให้ลิงหากินตามธรรมชาติจะดีกว่า” 

         ขณะที่ นายสุนทร พูนประเสริฐ ประธานหมู่บ้านซอยท่าจีน กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาลิงที่อยู่ในป่าโกงกางประมาณ 300 ตัว โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ติดริมคลองป่าชายเลนจะได้รับผลกระทบมาก ถูกรื้อค้นเครื่องใช้ภายในบ้าน รื้อหลังคา แย่งอาหารจากมือ แต่ยังไม่ถึงขั้นกัด หรือทำร้ายชาวบ้าน โดยส่วนตัวแล้วอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ปัญหาโดยการทำหมัน เพื่อลดจำนวน หรือไม่ก็เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่บ้างบางส่วนโดยเฉพาะตัวที่มีนิสัยดุร้าย เกเร ทำร้ายข้าวของของชาวบ้าน

         อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว จะลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอีก 4 พื้นที่ของอำเภอเมืองภูเก็ต ทั้งชุมชนซอยกิ่งแก้ว เขาโต๊ะแซะ เขารัง และจุดชมลิงเกาะสิเหร่ โดยจะสิ้นสุดจะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจังหวัดภูเก็ตจะได้แนวทางในการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากลิงแสม และลิงกังต่อไป