กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2
กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน
และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2
วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุม บอลรูม 1 ชั้น 2 โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต เพื่อชี้แจงผลการศึกษาของโครงการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลการคัดเลือกแนวเส้นทาง และรูปแบบทางแยกต่างระดับของโครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่โครงการเข้าร่วมประชุม ร่วมกับการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม zoom ประมาณ 500 คน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากโครงการฯ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาเพื่อรับรู้รับทราบข้อมูลความเป็นมาของโครงการ รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาโครงการตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีรายละเอียดดังนี้
การทบทวนแนวเส้นทางโครงการในช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้วนี้ ได้พิจารณาแนวเส้นทางโครงการตามการออกแบบเดิมของกรมทางหลวงมาดำเนินการออกแบบกรอบรายละเอียดต่อไป สำหรับแนวเส้นทางในการต่อขยายเข้าสู่กะทู้ จะพิจารณาให้การเดินทางจากจุดเริ่มต้นโครงการสู่กะทู้เป็นแนวทางหลัก บริเวณ กม.19+975 เบี่ยงขวา และมุ่งสู่ทิศใต้ เป็นทางยกระดับบนถนนวิชิตสงครามและผ่านพื้นที่เมืองกะทู้ โดยมีจุดสิ้นสุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายกะทู้ -ป่าตอง ส่วนทางที่เข้าเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 4024 บริเวณเกาะแก้วเป็นทางเชื่อมบรรจบ เนื่องจากโครงการเป็นทางพิเศษจึงต้องมีการควบคุมการเข้าออกเต็มรูปแบบ (Full Control of Access) โดยการกั้นรั้วและให้เข้า-ออกทางหลักของโครงการได้เฉพาะจุดที่กำหนด โดยออกแบบเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร มีทางบริการทั้ง 2 ฝั่งของทางพิเศษให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ถูกทางพิเศษปิดกั้นโดยออกแบบทางบริการฝั่งละ 2 ช่องจราจร แบบวิ่งสวนทิศทางจราจร รวมเขตทาง 80 เมตร เท่ากับเขตทางตามการออกแบบเดิม
การศึกษาและคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับที่เหมาะสมของโครงการ ซึ่งมีทางแยกต่างระดับที่สำคัญจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. ทางแยกต่างระดับเมืองใหม่ เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4026 (จุดเริ่มต้นโครงการ) 2. ทางแยกต่างระดับบ้านดอน เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4030 ออกแบบทางหลักเป็นสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 4030 3.ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1 เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4025 ออกแบบเป็น Trumpet Interchange 4. ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2 เชื่อมต่อระหว่างทางหลักและทางร่วมบรรจบเป็น System Interchange มีลักษณะเป็นทางแยกต่างระดับรูปตัว Y และ 5.ทางแยกต่างระดับบางคู เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4024 (จุดสิ้นสุดทางร่วมบรรจบ) มีลักษณะเป็นทางแยกต่างระดับรูปตัว Y
“การประชุมในวันนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลความเป็นมาของโครงการ แนวเส้นทางโครงการ การออบแบบรูปแบบโครงการ และผลการศึกษาการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนาของโครงการ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการ
ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นที่จะดำเนินการพัฒนาทางพิเศษเส้นนี้ ให้มีความเหมาะสมทั้งทางด้านจราจร ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อม โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน แนวเส้นทางโครงการได้ใช้ผลการศึกษาที่กรมทางหลวงได้วางแนวเส้นทางไว้ในปี 2559 และได้เชื่อมต่อเส้นทางไปสู่ทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2566 เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตมีระบบทางพิเศษที่รองรับการขยายตัวของการเดินทางทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมการในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน EXPO ที่จะมีขึ้นในปี 2571 ด้วย” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด