กรมอุตุฯเตือนภาคใต้ฝนตกหนัก ผู้ว่าฯไม่ประมาทประชุมด่วนรับมือ
กรมอุตุฯเตือนภาคใต้ฝนตกหนัก ผู้ว่าฯไม่ประมาทประชุมด่วนรับมือ
จังหวัดภูเก็ต ประชุมมอบแนวทาง การบริหารจัดการสาธารณภัยจากอุทกภัย แผ่นดินไหว ทั้งสึนามิ และเตรียมความพร้อมรับฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ในช่วงระหว่าง 31 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนอย่างไม่ประมาท
เมื่อบ่ายวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวของกับสาธารณภัย และภัยพิบัติทุกชนิด เพื่อมอบแนวทาง การบริหารจัดการสาธารณภัยจากอุทกภัย แผ่นดินไหว และสึนามิโดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต, ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยจากทางรัฐบาล โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทย สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยเต็มกำลัง โดยจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องจักรกล และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที มุ่ง เน้นการแก้ไขปัญหาเชิงรุก ควบคู่กับการดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมการมอบแนวทาง การบริหารจัดการสาธารณภัยจากอุทกภัย แผ่นดินไหวและสึนามิ การเตรียมความพร้อมรับฝนตกหนักและคลื่นลมแรงสืบเนื่องมาจากการประกาศเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560) ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นและตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 ที่ผ่านมาทำให้ในแต่ละพื้นที่มีปริมาณฝนใกล้เคียงกัน ซึ่งทราบได้จากจุดที่มีการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน 31 จุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวทางจังหวัดภูเก็ตจึงมีการประชุมเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เตรียมพร้อมดำเนินการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 1)แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ลาดเขิงเขา ที่ราบต่ำ ริมชายฝั่งทะเล และใกล้พื้นที่เสี่ยง ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ 2)ประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลท้องถิ่น รวมถึงกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง 3)กำชับให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ประสานหน่วยงานทหารในพื้นที่ อาสาสมัครจากทุกส่วน โดยให้จัดชุดเฝ้าระวังร่วม พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือตลอด24ชั่วโมง4)เตรียมสถานที่ปลอดภัย จุดอพยพ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า5)ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอและแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ6)รายงานผลการแจ้งเตือนประชาชน การเตรียมความพร้อม และหากเกิดสถานการณ์ให้รายงานความเสียหายและผลกระทบต่อประชาชนมายังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตได้ทราบภายใน24ชั่วโมง