“การให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล หลักสูตรเพื่อเยาวชน”(Kids Water Safety for community)
ผู้รับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่นที่ 22 (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมกับ สมาคมชาวภูเก็ต และชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ต จัดกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ (CSR) “การให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล หลักสูตรเพื่อเยาวชน ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล การช่วยเหลือตนเองและการสร้างจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่สวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ผู้รับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่นที่ 22 (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับ สมาคมชาวภูเก็ต และชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ต จัดกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ (CSR) “การให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล หลักสูตรเพื่อเยาวชน”(Kids Water Safety for community) โดยมีเยาวชนอายุตั้งแต่ 8 – 15 ปี เข้าร่วมโครงการ 120 คน ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล การช่วยเหลือตนเองและการสร้างจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด พร้อมด้วย นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธาน บ.ย.ส.22 นายอรุพร อรุณรัตน์ นายกสมาคมชาวภูเก็ต น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม
นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธาน บ.ย.ส.22 กล่าวว่าหลักสูตร บ.ย.ส.22 ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ (CSR) บ.ย.ส.22 จึงได้ทำกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และทักษะพื้นฐานในการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลให้แก่เยาวชนในพื้นที่เทศบาลเมืองป่าตอง ทั้งให้เกิดความตื่นตัวในการเพิ่มมาตรการป้องกันอุบัติภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
ด้าน นายอนุพร อรุณรัตน์ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร บ.ย.ส.รุ่นที่ 22 และนายกสมาคมชาวภูเก็ต เป็นผู้ประสานให้เกิดโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ขอเสนอให้ผลักดันหลักสูตรไลฟ์การ์ดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพลศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ติดทะเลอันดามันและอ่าวไทย นอกจากนี้ขอสนับสนุน Lifeguard ให้มีภารกิจดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชายหาด การป้องกันอุบัติภัยและภัยพิบัติทางทะเล (สึนามิ)ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ดูแลด้านทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น
ดังนั้น Lifeguard จึงควรได้รับการสนับสนุนด้านความรู้และฝึกฝนความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ตลอดจนดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในทะเล อีกทั้งเป็นหูเป็นตาแก่ภาคประชาชนและภาครัฐ ทั้งเป็นการดูแลและตรวจสอบการให้บริการของ Lifeguard แก่ประชาชน อันถือเป็นการบริการสาธารณะของรัฐประการหนึ่ง อีกทั้งการมี Lifeguard เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายหลักของรัฐบาลในปัจจุบัน
อนึ่ง ชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ตก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยกลุ่มไลฟ์การ์ดที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรไลฟ์การ์ดออสเตรเลีย (Surf Lifesaving) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยทางน้ำในสระว่ายน้ำและชายหาด ตลอดจนฝึกฝนทักษะของการช่วยชีวิตทางน้ำให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงดำเนินการเป็นศูนย์กลางข้อมูล และจัดฝึกอบรมสำหรับเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลให้กับสมาชิก เยาวชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนและประชาชนทั่วไป ชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ตได้ทำการฝึกอบรมบุคลากรไลฟ์การ์ดทั่วประเทศไทย และให้ความรู้แก่เยาวชนมามากกว่า จำนวน 3,000 คน