“ฉลองนวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ต้นตำรับนวดวัดโพธิ์ จุดกำเนิดการนวดแผนไทย ขึ้นทะเบียนมรดกโลกจาก UNESCO วันที่ ๒๙ ตุลาคมถึง ๒ พฤศจิกายนนี้
“ฉลองนวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ต้นตำรับนวดวัดโพธิ์ จุดกำเนิดการนวดแผนไทย ขึ้นทะเบียนมรดกโลกจาก UNESCO วันที่ ๒๙ ตุลาคมถึง ๒ พฤศจิกายนนี้
หลังจากที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่เมืองโปโกตา ณ สาธารณรัฐโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้สร้างความยินดีแก่ประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิทุนพระพุทธยอดฟ้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่ายด้านการนวดไทย จัดงาน “ฉลองนวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและงานสัปดาห์วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นี้
โดยภายในงานประกอบด้วย โซนนิทรรศการ “สดุดีพระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” “นวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” “ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย” “ฤๅษีดัดตน ต้นกำเนิดนวดไทย” โซน “ศาสตร์นวดไทย สืบสานมรดกโลก” การสาธิตการนวดไทยวัดโพธิ์ บริการนวดไทย ตรวจรักษา กล้ามเนื้อและเส้น การนวดไทยสี่ภาคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น โซนเวทีเสวนา/การแสดง “ทั่วโลก ยลวิจิตร ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย” ประกอบด้วยกิจกรรม เสวนานวดไทยการแพทย์แผนไทย การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง การแสดงฤๅษีดัดตน การแสดงศิลปะพื้นบ้านไทย และร่วมช้อปโซนร้านค้า ประกอบด้วย โซน “มหัศจรรย์ ตำรับยาสมุนไพรไทย แก้สรรพโรค” โซน “ไร้โรคภัย กินอย่างไรให้เป็นยา” โซน “สืบทอดภูมิปัญญาการแพทย์ไทย” โซน “ครบเครื่องศาสตร์นวดไทย”
พระราชปริยัติมุนี (รศ.ดร.เทียบ สิริญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน กล่าวว่า “ตอนที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนรับรองนวดไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะนวดตำรับวัดพระเชตุพน ได้มีการจารึกไว้ในจารึกวัดพระเชตุพนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีความครบถ้วนและสมบูรณ์ทุกประการ ซึ่งจุดกำเนิดการ “นวดไทย” เกิดขึ้นที่วัดพระเชตุพน และปัจจุบันภายในวัดพระเชตุพนยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน มีการให้บริการและสอนด้านการนวดไทยแก่ผู้สนใจ ดังนั้นองค์ความรู้ด้านการนวดตำรับ วัดพระเชตุพนนี้ จึงได้มีการถ่ายทอดแตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ช่วงที่โควิด-19 ยังไม่ระบาด มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายังวัดพระเชตุพนเฉลี่ยวันละประมาณ 6,000-10,000 คน และในจำนวนนักท่องเที่ยวเหล่านี้ มักจองคิวเพื่อขอรับบริการ “นวดไทยตำรับวัดพระเชตุพน”อีกด้วย”
ด้าน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาด้านการนวดไทยเป็นศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์ดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการรักษาทางเลือกควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตามแบบแผนตะวันตก เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆที่ส่งเสริมและพัฒนาการนวดไทยกว่า 50 องค์กร รวมไปถึงองค์กรภาควิชาชีพสถาบันการเรียนการสอนและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ
การจัดงาน “ฉลองนวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ถือว่าเป็นการประกาศและยืนยันบทบาทในการเป็นผู้ปฏิบัติและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้คัดเลือกสุดยอดการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็นไทยมาจัดแสดงทุกวันตลอดการจัดงาน เพราะฉะนั้นจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงานนี้ ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาของไทย”
ด้าน คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ไวยาวัจกร วัดพระเชตุพน และกรรมการมูลนิธิสิริวัฒนภักดี ซึ่งให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่างๆ ของวัดพระเชตุพน รวมทั้งการนวดไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “จารึกนวดไทย และฤๅษีดัดตน เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดสร้างไว้เป็นทาน เมื่อครั้งสถาปนาและปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน จนเปรียบเทียบว่า “วัดพระเชตุพน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย” และเป็นแหล่งเล่าเรียนสรรพวิชาความรู้ภูมิปัญญาไทยหลายแขนง ในบรรดาสรรพวิชา “จารึกวัดโพธิ์” ซึ่งมีทั้งหมด 1,440 ชิ้น ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำแห่งโลก โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยในจำนวนนั้น มี 60 ชิ้นพิเศษ จารึกเกี่ยวกับการนวดไทยไว้ เป็นหลักฐานองค์ความรู้การนวดไทย ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุดในปัจจุบัน จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ปี 2562 อีกด้วย และเมื่อวัดพระเชตุพนจะจัดงาน “ฉลองนวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ความรู้และภูมิปัญญาด้านสุขภาพของประเทศไทย ทั้งการนวดไทย และฤๅษีดัดตน ที่มีทั้งจารึกตำรา และรูปหล่อฤๅษีดัดตน จึงนับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ซึ่งผมในฐานะคนไทย และไวยาวัจกรของวัดพระเชตุพน รู้สึกยินดีในการจัดงานฉลอง และได้มีโอกาสร่วมในครั้งนี้ด้วย”
ร่วมสืบสานและภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และร่วมเฉลิมฉลองนวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและงานสัปดาห์วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร