“ชวน”เปิดงานพิทักษ์รักษ์หาด ว่าปัญหาภูเก็ตปัจจุบันคือ“ขยะ”
“ชวน”เปิดงานพิทักษ์รักษ์หาดว่าปัญหาภูเก็ตปัจจุบันคือ“ขยะ”
คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ภูเก็ต จับมือ 21 ภาคีเครือข่ายองค์กรจัดงานพิทักษ์รักษ์หาดภูเก็ต สร้างการมีส่วนร่วมในการปกป้องและดูแลทรัพยากรฯ ให้มีความยั่งยืน เปิดช่องทางสื่อสารให้ประชาชนรายงานสถานการณ์ชายหาด ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น“www.smartbeachphuket.com ขณะที่อดีตนายกฯชวน หลีกภัย ระบุปัญหาของภูเก็ตในขณะนี้ คือขยะ และนำเสียที่เกิดจากคนสร้าง จึงต้องแก้ด้วยตัวเราเอง ให้มีวินัย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) ร่วมกับ 21 ภาคีเครือข่ายองค์กร จัดงานพิทักษ์รักษ์หาดภูเก็ต (SAVE PHUKET BEACH) ณ บริเวณสวนสาธารณะลานโลมา เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ และภาคเอกชน คณะกรรมการจัดโครงการฯ สื่อมวลชน และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชน นักท่องเที่ยว เข้าร่วม
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ดำเนินโครงการวิจัยบริหารจัดการหาดจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องตามนโยบายการบริหารจัดการชายหาด ของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เยาวชนในสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ชายหาด ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดการเรื่องการบริหารจัดการหาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการให้เห็นเชิงประจักษ์ในด้านต่างๆ เช่น การสำรวจทรัพยากรของชายหาด การประเมินความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ และประชาชนในพื้นที่ การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม การจัดสัมมนาชุมชนเพื่อการจัดการหาดอย่างยั่งยืน และเป็นเสมือนศูนย์กลางในการรวบรวมฐานข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการชายหาดภูเก็ต อีกทั้งเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาหาด โดยสามารถรายงานสถานการณ์ต่างๆ ของชายหาดได้ด้วยตนเองผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น www.smartbeachphuket.com
การจัดโครงการ “พิทักษ์รักษ์หาดภูเก็ต” เป็นการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยเพื่อการบริหารจัดการหาดจังหวัดภูเก็ต และประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้มากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนได้ความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะการติดตามสถานภาพชายหาดในชุมชน เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการดูแลพื้นที่ชายหาด และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาชายหาดในพื้นที่ และปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน ชุมชนและนักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ชายหาด และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และมีส่วนร่วมในการปกป้องและดูแลทรัพยากรเหล่านี้ให้มีความยั่งยืน
กิจกรรมการจัดโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย การแสดงผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต, กิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว, กิจกรรมฐานการเรียนรู้, กิจกรรมสันทนาการ และการบำเพ็ญประโยชน์
ด้าน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาการจัดระเบียบท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือและข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้ชาวจังหวัดภูเก็ตรักกัน ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความยั่งยืน กิจกรรมในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รวมถึงยังสอดรับตามนโยบายการบริหารจัดการหาดของจังหวัดภูเก็ต
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม และโชคดีที่ในอดีตผู้นำประเทศไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการขุดแร่ในทะเล ทำให้ปัจจุบันทะเลของภูเก็ตยังคงมีความสวยงาม และเป็นจังหวัดที่ทำรายได้ให้กับประเทศมหาศาล ปัญหาของภูเก็ตในปัจจุบัน เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของขยะและน้ำเสียที่เกิดจากคนที่สร้างขึ้น เกิดจากความไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ คิดจะทิ้งขยะก็ทิ้ง จะปล่อยน้ำเสียก็ปล่อยทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งการแก้ปัญหานี้ต้องแก้ที่ตัวเราเอง อาศัยความร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ ในการร่วมกันป้องกันกำจัด และปัญหาที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือเรื่องความมีระเบียบวินัยจะต้องมีในตัวคน การที่มอ.จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทำให้คนหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาของภูเก็ต.