ชุด”พยัคฆ์ไพร”ลุยภูเก็ต ตรวจสอบรุกป่าสงวนฯ

         เป็นประเด็นร้อนอีกแล้ว หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ชุดพยัคฆ์ไพร” กรมป่าไม้ นำโดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร นำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่ม ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศและเครื่องเล่นสลิง (ซิปไลน์) ที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เข้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบมีการตัดถนนเข้าสู่พื้นที่บนยอดเขาและทางเข้ามีการสร้างรั้วเหล็ก พร้อมติดประกาศที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า ภายในบริเวณพื้นที่ครอบครองมีสภาพป่าสมบูรณ์ สุดเขตของพื้นที่พบเป็นชะง่อนผาติดทะเลวิวสวยงาม มีทางเดินลาดลงทะเล ซึ่งหน้าหาดเชื่อมต่อกับหาดฟรีดอมบีช ที่ก่อนหน้านี้กรมป่าไม้ได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว และจากการตรวจพิกัดดาวเทียม (จีพีเอส) พบว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯป่าเขานาคเกิด ตรวจสอบไม่มีทั้งโฉนด และส.ค.1 อยู่ในสารบบของกรมที่ดิน

         พื้นที่แปลงนี้ ผู้อ้างสิทธิเป็นเจ้าของอ้างว่า มีการครอบครองมาตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ป่าสงวนฯ ป่าเขานาคเกิด ประกาศเป็นป่าสงวนฯ เมื่อปี 2516 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ครอบครองจะออกโฉนดในพื้นที่ดังกล่าวได้ จากการตรวจสอบพบว่า มีข้าราชการป่าไม้ในพื้นที่ ได้มาตรวจสอบแปลงที่ดิน และระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยขณะนี้ข้าราชการคนดังกล่าวกำลังถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และผลจะออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งที่ดินแปลงนี้ยังเกี่ยวข้องกับอดีตเจ้าหน้าที่ที่ดิน จ.ภูเก็ตที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุม ก่อนเสียชีวิตในห้องขัง ที่ดินแปลงนี้น่าจะมีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท และเตรียมนำออกขายต่อให้กับนายทุนต่างชาติ ทั้งนี้กรมป่าไม้จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ครอบครอง และเรื่องส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนพื้นที่ต่อไป

         อีกจุดที่มีการตรวจสอบ คือ บริเวณป่าสงวนฯ ป่าเทือกเขากมลา คาบเกี่ยวกับป่าสงวนฯ เขานาค ซึ่งกรมป่าไม้ได้รับการร้องเรียนว่า มีการก่อสร้างเครื่องเล่นโหนสลิงหรือซิปไลน์ผิดกฎหมาย ของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบมีการตัดถนนเข้าไปยังพื้นที่ มีการก่อสร้างฐานขึงสลิงกับต้นไม้ใหญ่ จำนวน 25 ฐาน  ครอบคลุมเกือบเต็มพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ จากการรังวัดและตรวจพิกัดจีพีเอส พบมีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ก็ไม่มีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ก่อสร้าง จึงมีการแจ้งความดำเนินคดีและปิดประกาศตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 เพื่อให้เจ้าของมารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ต่อไป

         อย่างไรก็ตามสำหรับการบุกรุกพื้นที่ของรัฐในจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บนที่สูง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ชายทะเล ค่อนข้างตรวจสอบและเข้าถึงลำบาก และส่วนใหญ่จะเชื่อกันว่า จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเราจะเห็นหลายๆ หน่วยงานจากส่วนกลางมักเข้ามาตรวจสอบ เพราะมีการร้องเรียนเข้าไปยังส่วนกลาง เนื่องจากพื้นที่ราบภูเก็ตมีจำกัดและมักจะมีการครอบครองหมดแล้ว เมื่อมีการเติบโตของการท่องเที่ยวความต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็มีเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐตามมา ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วจะสามารถทวงที่ดินที่มีปัญหา และมีการยืนยันว่าที่ดินเหล่านั้นเป็นที่ดินของรัฐกลับมาได้มากน้อยเพียงใด เพราะหลายครั้งเมื่อมีการลงมาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางแล้วเรื่องเงียบหายไป