ตรวจสอบพื้นที่ “พระใหญ่” พบบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริง เจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความดำเนินคดี
ตรวจสอบพื้นที่ “พระใหญ่” พบบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริง
เจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความดำเนินคดี
เมื่อช่วงค่ำวันที่27 สิงหาคม 2567ที่ผ่านมา ณ บริเวณเทือกเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัยคือพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคาคีรี หรือพระใหญ่ และสถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา (เขานาคเกิด ของวัดกิตติสังฆารามหรือวัดกะตะ) นายบรรณารักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายสมชาย นุชนานนท์เทพ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ และคณะเดินทางมาติดตามการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่มีฝนหนักในท้องที่จังหวัดภูเก็ตจนเกิดดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนราษฎร์ ทำให้มีประชาชน แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ และชาวรัสเซีย เสียชีวิต รวมจำนวน 13 ราย ในพื้นที่ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต อย่างไรก็ดีมีการตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเทือกเขานาคเกิด ที่ตั้งพระใหญ่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ยื่นคำขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด เพื่อสร้างหรือเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมิ่งมงคลเอกนาคคีรี (พระใหญ่) สถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ของวัดกิตติสังฆาราม เนื้อที่ 15 ไร่ (ยื่นขอตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการอนุญาตของกรมป่าไม้ จึงขอให้ศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต ตรวจสอบพื้นที่ที่ดินโคลนดังกล่าวว่า อยู่ในพื้นที่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ยื่นขออนุญาต หรือไม่ และให้ประสานเทศบาลตำบลกะรน ตรวจสอบข้อมูลว่าการก่อสร้างต่างๆ บริเวณพระใหญ่ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2521 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 พ.ศ.2567 หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบได้มีการตรวจยืดพื้นที่ 5 ไร่ 19 ตารางวา โดยอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าควนเขานาคเกิด 3 ไร่เศษ และในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 1 ไร่เศษ ความเสียหายเบื้องต้น เป็นเงิน 344,462 บาทเศษ (สำหรับค่าเสียหายที่แท้จริงจะทำการประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่า ตามหลักเกณฑ์) ซึ่งเป็นการสร้างลานจอดรถและสิ่งปลูกสร้าง 6 รายการ อาคารอเนกประสงค์, ห้องน้ำ, หอติดตั้งถังน้ำ อาคารควบคุมระบบน้ำ ศาลาที่พักผู้โดยสารและบ้านพัก อาคารอเนกประสงค์ห้องน้ำ เป็นต้น
คณะเจ้าหน้าที่ ป่าไม้ สอบถามเจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ในเบื้องต้น ทราบข้อมูลว่า ดำเนินการโดยมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45และมี นายสุพร วนิชกุล ประธานมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 ผู้ดำเนินงานก่อสร้างพระใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ดังนั้นผู้ตรวจยึด มีความเห็นร่วมกันว่าเป็นการกระทำผิด พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ฐาน “ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือยึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต” และมาตรา 55 ฐาน “ผู้ใดครอบครองป่าที่ถูกแผ้วถาง โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น, พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ฐาน “ยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้ รับอนุญาต”
นอกจากนี้มาตรา 26/4 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น และเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2535 มาตรา 97 การบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินผู้กระทำผิดต้องชดใช้ให้รัฐเท่ากับจำนวนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกตามที่คิดคำนวณค่าเสียหายของรัฐทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหาย
และในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ประสานงาน พนักงานสอบสวน สภ.กะรน เพื่อแจ้งความกล่าวโทษ ในกรณีที่เกิดขึ้นต่อไป