ตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว-รถและเรือ ยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ ขอให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นการด่วน

ตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว-รถและเรือ ยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ ขอให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นการด่วน

            วันที่​ 26 มิ.ย.64​ ที่โรงแรมแมริออท เมอร์ลิน บีช อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย​ นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต เป็นตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว-รถและเรือ ยื่นหนังสือต่อ​ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นการด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมด้วยสำเนาหนังสือขอความช่วยเหลือจากสมาคมผู้ประกอบการรถ 30 ภูเก็ต, สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต และสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด

            นายธเนศ กล่าวถึง​ การยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เกิดการระบาดไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก และจากสถานการณ์ดังกล่าว เบื้องต้นทางประเทศไทย รวมถึงจังหวัดภูเก็ต ได้รับผลกระทบส่งผลให้ธุรกิจทุกประเภทหยุดชะงัก​ โดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงได้ ขาดรายได้ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงทำให้สมาคมผู้ประกอบการรถ 30 ภูเก็ต, สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต และสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพื่อประสานไปยังรัฐบาลในการช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้งในอนาคต

           สำหรับข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการรถ 30 ภูเก็ต ซึ่งเป็นรถรับจ้างไม่ประจำทาง นั้น ขอให้งดเว้นภาษีรถรับจ้างสาธารณะประจำปี 2564 และของปีภาษี 2563 ซึ่งค้างชำระ พร้อมค่าปรับ รวมถึงค่าปรับกรณีไม่ได้ตรวจสภาพรถกลางปี เนื่องจากรถไม่ได้ใช้งานเลย และขอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ และแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือตามโครงการของรัฐบาลได้ เนื่องจากภาระหนี้ของผู้ประกอบการรถสาธารณะ จะอยู่กับไฟแนนท์ หรือลิสซิ่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

           ส่วนข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวภูเก็ต ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเล, นำเที่ยวทางบก, นำเที่ยว Inbound, นำเที่ยว Outbound และ Domestic , ผู้ประกอบการ อีเว้นท์ และTeam building ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก, ผู้ประกอบการขายตั๋วโดยสารและเคาน์เตอร์ทัวร์ ได้ขอให้งดเว้นภาษีต่อทะเบียนเรือบรรทุกผู้โดยสาร, ต่อทะเบียนรถรับจ้างสาธารณะ, ลดค่าประกันภัยและ พ.ร.บ.สำหรับเรือบรรทุกผู้โดยสารและรถรับจ้างสาธารณะ, ยืดเวลาการพักชำระหนี้ของสถานบันการเงินออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี, ขอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการนำเที่ยว และขอให้ช่วยเหลือให้คำปรึกษาผู้ประกอบการฯ ในข้อกฎหมายที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างไฟแนนท์

               ขณะที่​ สหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด ซึ่งบริการรถยนต์ประจำท่าอากาศยานภูเก็ต มีสมาชิก 304 ราย ขอให้งดเว้นการเก็บภาษีรถรับจ้างสาธารณะประจำปีภาษี 2564 และภาษีค้างชำระในปีภาษี 2563 รวมถึงค่าปรับกรณีไม่ได้ตรวจสภาพรถกลางปีและอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้รถในการประกอบการเลย ตลอดจนขอให้ช่วยจัดตั้งหรือจัดหากองทุนเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ, แก้ไขหรืออนุโลมข้อกำหนดต่างๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ตามโครงการของรัฐบาลได้