ทน.ภูเก็ต ให้การต้อนรับนักปั่นจักรยาน “ปั่นยลตลาด ชิมอาหาร เล่าขานเรื่องในทู@ภูเก็ต”

 

              วันนี้ (๙ ก.ค. ๖๐) เวลา ๐๘.๐๐ น. นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ให้การต้อนรับนายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้  ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และคณะนักปั่นกิจกรรม “ปั่นยลตลาด ชิมอาหาร เล่าขานเรื่องในทู@ภูเก็ต” โดยมีนายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายพงษ์สิงห์ ณ นคร ประธานสภาเทศบาลนครภูเก็ต สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ ณ อนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี (วงเวียนกะเฌอ) สะพานหิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

            นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่เทศบาลนครภูเก็ต ได้มีส่วนร่วมในจักรยานกิจกรรม “ปั่นยลตลาด ชิมอาหาร เล่าขานเรื่องในทู@ภูเก็ต” ซึ่งจัดโดยเทศบาลเมืองกะทู้ ร่วมกับเครือข่าย เพื่อประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ตให้ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้รับทราบผ่านทางกิจกรรมปั่นจักรยาน โดยกำหนดเส้นทางจากเทศบาลเมืองกะทู้ – อนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี (วงเวียนกะเฌอ) สะพานหิน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเขตเมือง และกลับไปยังเทศบาลเมืองกะทู้ รวมระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร

            ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวเรื่องสุขภาพและกิจกรรมทางกายสูงขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะการวิ่งและการปั่นจักรยาน พบว่าการปั่นจักรยานมีคนหันมาปั่นเพิ่มขึ้นกว่า ๑๐๐% ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพและปรับทัศนคติคนหนุ่มสาววัยทำงานให้สนใจการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานมากขึ้น ซึ่งการที่คนไทยสนใจในการปั่นจักรยานมากขึ้น นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องการช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันลดรถยนต์และรถจักรยานยนต์

            สำหรับเส้นทางของขบวนนักปั่นจะผ่านเขตเทศบาลนครภูเก็ต เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และร่องรอยอดีตอันรุ่งเรืองของภูเก็ต บริเวณย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งมีตึกเก่าแบบชิโน-โปรตุกีส ที่ผสมผสานเอาความเป็นศิลปะตะวันตกและตะวันออก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองภูเก็ต ตึกเก่าเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วตัวเมืองภูเก็ต สามารถปั่นจักรยานหรือเดินชมได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ

 

         พิพิธภัณฑ์ไทยหัว : จากโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ลูกหลานชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยร่ำเรียนวิชาจากโรงเรียนแห่งนี้ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อรวบรวมความเป็นมาของภูเก็ตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานเตือนให้ทุกคนได้ระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ที่สร้างสิ่งดี ๆ ไว้ให้กับลูกหลานในปัจจุบัน โดยอาคารพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบชิโน – โปรตุกีส ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗

         ภาพบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของย่านเมืองเก่าถนนถลาง จำนวน ๓ จุด ตั้งแต่จากสี่แยกถนนเทพกระษัตรีตัดถนนถลาง – สี่แยกถนนถลางตัดถนนเยาวราช เป็นพื้นแสตมป์แอสฟัลติกคอนกรีตสีแดง  โดยบริเวณแยกถนนถลางตัดถนนภูเก็ต เป็นรูปเรือสำเภา หมายถึง จุดเริ่มต้นของคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัย และมีการค้าขาย ณ ถนนถลาง ซึ่งบริเวณคลองบางใหญ่ มีพื้นที่กว้าง และใหญ่ ทำให้เรือสำเภาสามารถเข้ามาถึงท่าเรือ ถ.ถลาง ได้ ทำให้ย่านเมืองเก่าเริ่มเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนอาศัยมากขึ้น ส่วนแยกซอยรมณี เป็นรูปดอกไม้ หมายถึง เป็นเเหล่งสถานบันเทิงแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนของชาวบ้าน และผู้เข้ามาทำการค้าขายสินค้า และแยกถนนถลางตัดถนนเยาวราช เป็นรูปบ้านชิโน สื่อถึงความรุ่งเรืองของเมือง มีการสร้างอาคารตามรูปแบบ    ชิโนซึ่งรับวัฒนธรรมมาจากคนจีนที่เข้ามาค้าขายและอยู่อาศัย

         แยกธนาคารชาร์เตอร์ (ถนนพังงา – ภูเก็ต) จะเห็นว่ามีอาคารเก่าแก่ ๒ อาคารอยู่ตรงข้ามกัน ได้แก่ ธนาคารชาร์เตอร์ ปัจจุบัน คือพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ และอาคารสถานีตำรวจ(เก่า) ปัจจุบัน คือ ปัจจุบันศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว ธนาคารชาร์เตอร์เป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยซึ่งถูกตั้งขึ้นในเมืองภูเก็ต  ธนาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐  ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ในยุคนั้น สมุหเทศาภิบาลเมืองภูเก็ต หรือเจ้าเมืองภูเก็ตคือ มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้มองการณ์ไกลว่า ควรมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารของเมืองภูเก็ตสู่ระบบสากลอันจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาด้านการค้าขายแร่ดีบุก ยางพารา และสินค้าต่างๆ ไปยังต่างประเทศด้วย จึงผลักดันให้มีการสร้างธนาคารชาร์เตอร์แบงค์ขึ้นในภูเก็ต  โดยให้ชาวตะวันตกเข้ามาลงทุนในธนาคาร ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองภูเก็ตในสมัยนั้นรุ่งโรจน์เป็นอย่างมาก

         ย้อนรอยอนุสรณ์ขุดแร่ดีบุกภูเก็ต  สะพานหินสถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมือง เป็นที่ตั้งของ “วงเวียนกระเฌอ” หรือวงเวียนหอย ชื่อที่เรียกกันจนคุ้นปากของคนท้องถิ่นภูเก็ต เนื่องจากอนุสาวรีย์เรือขุดแร่จำลองมีลักษณะคล้ายเปลือกหอย แต่ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ ‘อนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี’ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมล์ ชาวออสเตรเลีย ผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ในนามของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์

         นอกจากนี้ยังผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ สถานที่สักการะและขอพรจากกรมหลวงเขตอุดมศักดิ์ ที่ได้รับการยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระบิดาแห่งราชนาวีไทย ทั้งยังเป็นที่เคารพนับถือของทหารเรือ ชาวประมง และประชาชนทั่วไป มุ่งสู่เลในเมือง สวนสาธารณะในบรรยากาศงดงามริมทะเล เป็นที่พักผ่อนของคนเมืองทั้งสวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และกิจกรรมอื่นๆ เป็นศูนย์รวมแห่งความสุขของชาวภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมสะพานหินสามารถสัมผัสความสวยงามของเลในเมือง และชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยในองศาที่ตรงทิศตะวันออกมากที่สุดในวันที่ ๒๑ – ๒๒ มีนาคมของทุกปี

         และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อเขตเทศบาลตำบลวิชิต คือ สะพานเทพศรีสินธุ์ (สะพานยกระดับคลองเกาะผี) เป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางในพื้นที่ด้านใต้ของเมืองภูเก็ต ช่วยคลี่คลายสภาพปัญหาการจราจรในตัวเมืองภูเก็ต ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดแบบคอขวด บริเวณสามแยกของถนนเจ้าฟ้า และถนนบางกอก ตลอดจนรองรับการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวหลักของเกาะภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

         นายกเทศมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามคณะผู้บริหาร เทศบาลนครภูเก็ต ขอบคุณเทศบาลเมืองกะทู้ และผู้มีเกี่ยวข้องทุกท่านที่จัดกิจกรรม “ปั่นยลตลาด ชิมอาหาร เล่าขานเรื่องในทู@ภูเก็ต”  ที่ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการร่วมได้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง