ทร.ภาค3แบะท่าค้าน สร้างสนามบินใกล้ฐาน
กรณีที่มีข่าวว่า “บางกอกแอร์เวย์” ขอเช่าที่ป่าเสื่อมโทรมจังหวัดพังงา สร้างสนามบินพาณิชย์ ซึ่งจังหวัดมีทีท่าคล้อยตามถึงขั้นให้ทำประชาพิจารณ์กันในพื้นที่ เพื่อนำเสนอไปทางส่วนกลาง ฐานทัพเรือพังงาเข้าตรวจสอบเพราะแนวขึ้นลงอยู่ใกล้ฐานทัพ พบพิรุธหลายด้าน มีกลุ่มนายทุนอิทธิพลพัวพันหาประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนโดยมิชอบขณะเดียวกันก็พบมีการโพสต์กันในไลน์ คัดค้าน
เมื่อวันที่ 3 ก.ค.60 พล.ร.ต.วรงกรณ์ โอสถานนท์ ผบช.ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาค 3 และคณะได้เข้าตรวจสอบหาข่าวเชิงลึก กรณีบริษัทเอกชนขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว จังหวัดพังงา ก่อสร้างสนามบินพาณิชย์ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงทางทหาร เพราะแนวขึ้นลงอากาศยานตามแผนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพเรือพังงา และฝ่ายทหารยังไม่ทราบรายละเอียด
จากการตรวจสอบดังกล่าวพบว่า ก่อนหน้านี้การทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านยังมีข้อพิรุธหลายด้าน อาทิเช่น การทำข้อมูลความเห็นไม่รอบด้าน ไม่มีการเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีการบิดเบือนข้อมูลของชาวบ้านในหมู่บ้านที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสนามบินพาณิชย์ของเอกชนในพื้นที่ป่าที่อ้างว่าเสื่อมโทรม อีกทั้งมีกลุ่มนายทุนอิทธิพลที่บุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว 14 ราย เข้าไปสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสนามบิน ขณะที่ชาวบ้านกว่า 120 รายเดือดร้อน ซึ่งนายทุนดังกล่าว เป็นกลุ่มเดียวกับที่บุกรุกที่ดินเขตทหาร และถูกอดีตผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา อดีตผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 ฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล
ล่าสุดยังพบว่าที่ดินซึ่งจังหวัดพังงาเสนอให้เอกชนใช้ก่อสร้างสนามบินบางส่วนยังทับซ้อนกับพื้นที่ซึ่งกลุ่มนายทุนอิทธิพลบุกรุกทำบ่อทราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดีของดีเอสไอ บางรายถูกศาลพิพากษาจำคุก 7 ปี ปรับเป็นเงิน 15,000,000 บาท บางรายอยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล ซึ่งต้องชดใช้เงินให้กับทางราชการไม่น้อยกว่า 98 ล้านบาท
ในขณะเดียวกันก็มีการโพสต์กันในไลน์กลุ่มต่างๆ มีใจความว่า ในฐานะคนพังงาขอพูดเรื่องสนามบินครับมีใจความว่า
“มีบริษัทเอกชนขอเช่าที่ป่าสงวนใกล้ชายทะเลอำเภอท้ายเหมืองเนื้อที่ 2,000 ไร่ซึ่งบริเวณนั้นมิใช้ป่าเสื่อมโทรม โดยบริเวนที่น้ำท่วมถึงจะเป็นป่าไม้โกงกาง ถัดขึ้นมาก็เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามดินปนทรายซึ่งโดยธรรมชาติต้นไม้จำพวกนี้ต้นไม่สูงใหญ่เหมือนป่าเต็งรังหรือป่าดิบชื้น เพราะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงมากต้นไม้จึงปรับตัวให้เล็กลงเพื่อหลบแรงลม ถัดขึ้นไปบางแห่งก็จะเป็นไม้เล็กๆและหญ้า (ชาวบ้านเรียกว่า ” ป่าไส” ) พื้นที่บางส่วนถูกชาวบ้านบุกรุกปลูกยางพาราและต้นปาลม์น้ำมัน หากถามชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณสร้างสนามบินเขาจะตอบทันที่ว่าเขาไม่เห็นด้วย แต่ถามคนรอบนอกในอำเภอท้ายเหมือง ตะกั่วทุ่ง(โดยฉะเพาะที่ตำบลโคกกลอย) ตะกัวป่า อำเภอเมือง คนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยเพราะเขาได้ประโบชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้นถ้าทำประชาพิจารทั้งจังหวัด แน่นอนคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการสร้างสนามบิน ไม่ว่าสนามบินจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐ
สำหรับผม คัดค้านการสร้างสนามบินครับ
1. มีสนามบินของรัฐใช้ได้สะดวกที่ภูเก็ต.กระบี่ ที่อยู่ไม่ไกล จากอำเภอเมืองพังงาไปภูเก็ตหรือไปท้ายเหมือง ต่างกันประมาณ 20 กม และห่างจากกระบี่ประมาณ 40 กม.คนที่อำเภอคุระบุรีไปใช้สนามบินระนอง คนที่อำเภอทับปุดจะใช้สนามบินภูเก็ตหรือกระบี บางคนไปใช้ที่สุราษฎร์ธานี ก็ได้แล้วแต่จะเลือก
2.ราคาค่าเครื่ องบินน่าจะสูงกว่าที่อื่นโดยเทียบจากสนามบินเกาะสมุย (เพราะเป็นเอกชนรายเดียวกัน) หากราคาเท่ากันก็จะเป็นการแย่งรายได้จากสนามบินของรัฐ รายได้ของภูเก็ตน่าจะลดลง รัฐก็จะได้เงินลดลงด้วย
3. ไม่มีการแข่งขันหรือประมูลตามกฎหมาย ซึงผมเชื่อโดยสุจริตว่าน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน
4. สิ่งที่ผมอยากเห็นในจังหวัดพังงา หรือวิสัยทัศน์ของคนพังงาคือ ” พังงาเมืองธรรมชาติ “ เราสามารถทำให้พังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยใช้ธรรมชาติเป็นจุดขายได้อย่างแน่นอน เรามีอุทยานแห่งชาติในทะเล 4 แห่ง คือ อ่าวพังงา หมูเกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะระ – เกาะพระทอง บนบกมี ศรีพังงา เขาหลัก-ลำลู่ โตนบริวรรต และตรองชายทะเลท้ายเหมือง(จำชื่อไม่ได้) รวมเรามีอุยานแห่งชาติ 8 แห่งเรามีอุทยานแห่งชาติมากที่สุดในประเทศไทยและมีทั้งทางบกและทะเล เราบริหารจัดการให้ดี กินกันเจ็ดชั่วโคตรก็ไม่หมด หากมีสนามบิน ชายทะเลท้ายเหมือง เขาหลักเป็นอย่างไร เราต้องการให้เป็นเหมือนพัทยาหรือว่าจะอยู่กับธรรมชาติ
5. คนพังงาไม่แตกแยกเพียงเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเราจะตัดสินใจเลือกทางเดินของเราอย่างไร ตัดสินใจแล้วไม่มีคำว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นเรื่องอนาคตที่เราเลือกเดินเองครับ