ทำไม ? ยังต้องมี อบจ.
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มักถูกกล่าวถึงว่าจะออกหัวหรือก้อยมาตลอด คือ อยู่ต่อหรือโดนยุบ ก็พูดกันมาแบบนี้ 30 กว่าปีแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังได้ไปต่อ เหตุผลสำคัญที่ อบจ.มักถูกว่า หมดความจำเป็น ทำงานซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ก็คงเป็นเรื่องของ “ไม่มีพื้นที่ดำเนินการ” เป็นของตัวเอง จะทำอะไรทีหนึ่งก็ต้องไปแตะต้องในพื้นที่ของเทศบาล หรือ อบต.เสียหมด เหตุผลนี้ก็น่าคิดเหมือนกัน โดยเฉพาะในภูเก็ตบ้านเรา
ในบางยุคสมัย อบจ.ทำงานแข่งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ชอบจัดงาน จัดเทศกาล แข่งกับเทศบาล อบต.แบบไม่จำเป็น สิ้นเปลือง ไร้สาระ เช่น เขาจัดงานที่สะพานหิน นี่มาจัดที่สนามชัย งานเทศกาลเดียวกัน แต่ต่างคนต่างจัด ประชาชนเลือกไม่ถูกจะไปงานไหนดี สุดท้ายก็มีการเกทับอัดงบประมาณลงไปจัดให้ยิ่งใหญ่อลังการ์งานสร้าง มีถ่ายทอดสดทีวี เอิกเกริก แต่หารู้ไม่ว่า ที่ทำแบบนั้น เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คือถ้าผู้บริหาร อบจ.คิดได้แค่จัดงาน ออกทีวี แบบนี้ยุบไปเถิด เปลืองงบประมาณภาษีอากรของประชาชน แต่ในยุคที่ อบจ.มีแนวคิดแนวทางการทำงานที่สร้างสรรค์อย่างชัดเจน วางตำแหน่งขององค์กรไว้ให้ทำแต่ “เรื่องใหญ่ ๆ เล็ก ๆ ไม่ทำ” ก็คือ ในยุค อัญชลี วานิช เทพบุตร ซึ่งเน้นการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในลักษณะ “พี้เลี้ยง” เสมือนพี่สาวคนโตที่ช่วยดูแลน้อง ๆ ทั้งหลายให้เข้มแข็ง เติบโต การเน้นทำแต่เรื่องใหญ่ เห็นชัด ๆ ก็คือ การเข้าไปอุ้มโรงเรียนในระดับต่าง ๆ ที่กำลังจะเสื่อมสลาย ใกล้ถูกยุบ ให้กลับมามีชีวิตชีวา มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง วางใจส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือกับโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ.ภูเก็ต เช่น โรงเรียนบ้านไม้เรียบ ที่กะทู้ เกือบปิดตัวเองไปแล้วเพราะมีนักเรียนเหลือน้อย จนกลายมาเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ หรือจะเป็นโรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู) ซึ่งแต่ก่อนเป็นโรงเรียนในเมืองที่ถูกเมิน กลายเป็นโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานอีกครั้งหนึ่ง หรีอจะเป็นการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะ ที่มีความทันสมัย เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและประชาชน กระจายกันอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเกาะภูเก็ต ก็ทำกันมาดี แต่สุดท้ายก็ขาดการทำแบบตั้งใจสานต่อ เงียบเหงา วังเวงไป ประตูเมืองภูเก็ต ก็เช่นเดียวกัน ความตั้งใจที่ดี ที่จะทำให้ภูเก็ตเรามีประตูเมืองเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวระดับโลกต่าง ๆ เป็นหน้าเป็นตา แสดงเอกลักษณ์ของเกาะภูเก็ต รวมถึงอำนวยความสะดวกในการหาข้อมูลการเดินทาง รวมไปถึงการพักผ่อนอิริยาบถก่อนเดินทางต่อไป แต่ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี เล่นงานแบบแรง ๆ ถึงขนาดสร้าง “ด่านตรวจ” มาแย่งขโมยซีน ไม่พอ ยังพิเรนทร์สร้างที่ทำการ อบต.มาคร่อมถนนซะอีก แบบนี้วัยรุ่นต้องบอกว่า “งงเด้” หรือจะเป็นของใหญ่ที่ อัญชลี วานิช เทพบุตร ปลุกปั้นจนสำเร็จในปลายสมัยการดำรงตำแหน่ง ก็คือ โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ซื้ออาคารโรงพยาบาลเก่าของเอกชน มาปรับปรุงและบริหารงานใหม่ เพื่อรองรับความแออัดจากโรงพยาบาลหลักของจังหวัด คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
ทุกขั้นตอนของการดำเนินการสำเร็จในยุคสมัยนี้ ก่อนจะมีการส่งต่อไปให้ผู้บริหารอีกชุดทำแบบเด็กเล่นขายของ กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายไปอีกเรื่อง มาถึงตรงนี้ ก็คงต้องบอกว่า ในช่วงเวลาต่อไปของ อบจ.ภูเก็ต หากจะให้เข้มแข็ง ต่อเนื่อง ไม่ทำงานแบบ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ทำงานซ้ำซ้อน แย่งยโมยซีนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ แต่ต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง พี่ใหญ่ ให้เขาได้ ก็คงต้องเลือกคนที่มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน และประสานเข้ากับชาวบ้านได้จริง ๆ เพื่อให้องค์กรนี้ตอบโจทย์รัฐบาลนี้และในอนาคตให้ได้ว่า “ทำไมต้องมี อบจ.” ต่อไป