ทีเส็บผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชนร่วมกันยกระดับงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็น Flagship Event ตั้งเป้าดึงนักเดินทางรุ่นใหม่
ทีเส็บผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชนร่วมกันยกระดับงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต
สู่การเป็น Flagship Event ตั้งเป้าดึงนักเดินทางรุ่นใหม่
วันที่ 20 กันยายน 2565 เวลา13.30 น. ทีเส็บ ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนภูเก็ตยกระดับ “งานประเพณีถือศีลกินผัก” ให้เป็น Flagship Event ตามแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจัดงานเทศกาลนานาชาติ (Festival Economy) ผ่านแนวคิด 1 เมือง 1 งานเทศกาลนานาชาติ ตั้งเป้ายกระดับงานสู่อีเว้นต์ระดับโลก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเกียรติ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว โดยมี นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, นางเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสหกรรมภาคอันดามัน ร่วมแถลงข่าว ณ ภัตตาคาร บลูอีเลเฟ่นท์
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในระดับโลก และอุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในยุทธศสาตร์เสาหลักของจังหวัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการจัดประชุมและการท่องเที่ยว ในแต่ละปีเรามีโอกาสต้อนรับนักเดินทางจำนวนมาก นอกจากความสวยงามของสถานที่และความพร้อมด้านการคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แล้ว จังหวัดภูเก็ตยังมีงานประเพณีสำคัญอย่าง “ประเพณีถือศีลกินผัก” หรือ เจี๊ยะฉ่าย ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 เป็นงานที่มีความหลากหลายในทุกมิติ ทั้งด้านความเชื่อ ความศรัทธา ประเพณีเก่าแก่ และกิจกรรมจากชุมชนอ๊ามโบราณ ซึ่งมีความน่าสนใจรอการค้นพบและทำความรู้จักจากคนทั่วโลก
ที่สำคัญ จังหวัดภูเก็ตได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็น Creative Cities of Gastronomy หรือ เป็นเมืองที่มีความสร้างสรรค์ทางด้านอาหาร และยังเป็นเมืองแรกในอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ด้วย ดังนั้นนักเดินทางที่เข้าร่วมงานประเพณีถือศีลกินผักจะได้พบกับอาหารที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสุขภาพในหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนอาหารพื้นเมืองที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับงานประเพณีนี้ อาทิ โอต้าว โลบะ หมี่ฮกเกี๊ยน เป็นต้น ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการส่งเสริมและยกระดับงานให้เป็นระดับสากล พร้อมต้อนรับนักเดินทางที่จะเข้ามาในจังหวัดได้ต่อไป
ส่วนทางด้าน นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวถึง “ทีเส็บ มีเป้าหมายในการชูศักยภาพเมืองไมซ์ด้วยการยกระดับงานเด่นในไมซ์ซิตี้ให้เกิดเป็น Flagship Event และก้าวสู่การเป็นงานระดับนานาชาติ สอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจัดงานเทศกาลนานาชาติ หรือ Festival Economy ด้วยงานเทศกาลที่ทีเส็บให้การสนับสนุน นับเป็นการสร้างเศรษฐกิจ กระจายรายได้ กระจายความเจริญ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเมือง โดยต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนและเมืองในการนำวัฒนธรรมหรือหาอัตลักษณ์ของเมืองมาถ่ายทอดให้โลกรู้จักมากขึ้น เพื่อให้งานเติบโตจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการยกระดับงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2565 ทีเส็บจึงได้ทำการศึกษาภาพลักษณ์และการรับรู้ของจังหวัดภูเก็ตและประเพณีถือศีลกินผักและพบว่า ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางที่รู้จักมาอย่างยาวนานในฐานะ เดสติเนชั่นของการจัดงานเทศกาลดังกล่าว แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางการตลาด และความต้องการของนักเดินทางในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่ (New World Travelers) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของการเดินทาง จึงทำให้ทีเส็บมองหาแนวทางสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาเนื้อหา โดยยึดหลัก branded customer experience เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายเมื่อได้มาสัมผัสประเพณีการจัดงานดั้งเดิม ที่ร่วมสมัย แตกต่างจากเดิม และทำให้ตัดสินใจมาร่วมงานง่ายขึ้น โดยเน้นกลุ่มเดินทางเพื่อหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศรัทธา (Faith Wanderers) การเดินทางเพื่อเดินเมือง (City Hoppers) การเดินทางเพื่ออาหาร (Food Lovers) และการเดินทางเพื่อสุขภาพ (Healthy Addicts) นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนภาคเอกชนของภูเก็ตในการจัดกิจกรรม “Gastronomy Chef’s Table” เพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์และความโดดเด่นของงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจผ่านอาหารเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ยังได้กล่าวว่า การสืบทอดประเพณีอันดีงามนี้เป็นการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี เป็นการละเว้นการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต รักษาศีล สำรวมกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ และประชาชนทั่วไปยังสามารถร่วมชมพิธีกรรมสำคัญต่างๆ มากมาย และเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีสำคัญของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ตจึงได้ร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดกิจกรรม อาทิ การประดับตกแต่งเมือง, ร่วมจัดพิธีส่งเก๊ง (สวดมนต์) ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม ณ ลานนวมินทร์ 72 ถนนภูเก็ต การรักษาความสะอาดในพื้นที่และเส้นทางขบวนแห่พระ, ควบคุมการใช้ประทัดในพื้นที่, จัดระเบียบป้ายและธงในพื้นที่, จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว, ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบในการปรุงอาหารของร้านค้าและศาลเจ้า ซึ่งการจัดงานจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการรองรับโรคระบาดในรูปแบบ (D-M-H-T-T-A)
ส่วนทาง นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในปีนี้สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนจากทีเส็บ จัดกิจกรรม “Gastronomy Chef’s Table” เพื่อส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการร้านอาหารในอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ทั้งด้านประเพณีและอาหารที่ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยเชฟชื่อดังของเมืองภูเก็ต ในวันที่ 25 กันยายน ที่เทศบาลเมืองกะทู้ และวันที่ 27 กันยายน ที่บริเวณชั้น 2 สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) โดยในปีแรกนี้จะเป็นการสร้างการรับรู้ และปีต่อ ๆ ไปจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพในงาน “ประเพณีถือศีลกินผัก ปักธง เพื่อสุขภาพ ให้ภูเก็ตเข้าสู่ Phuket Hub อย่างแท้จริง” ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ณ เทศบาลกะทู้ เวลา 15:00-22:00 และบริเวณอ๊ามจุ๊ยตุ่ย เวลา 10:00-24:00 น.
ทั้งนี้ ขอเชิญประชาชาชนเข้าร่วมงาน “งานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต 2565” ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต ร่วมชำระล้างร่างกายและจิตใจ ไปกับประเพณีอันเก่าแก่ ความเชื่อ ความศรัทธา มนต์เสน่ห์ของอาหารสร้างสรรค์จากชุมชนอ๊ามโบราณ ซึ่งเป็นการกลับมาจัดงานอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19