นายกฯ อรุณนำทีมชาวเลราไวย์มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าฯภูเก็ต หลังจากถูกจับกุมดำเนินคดีในเขตอุทยานฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ม.ค. 61 ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นายนิรันดร์ หยังปาน หนึ่งในแกนนำชาวเลราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ ตลอดจนชาวเล จำนวน 6 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จับกุมเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา บริเวณอ่าวในทอน เขตอุทยานฯ สิรินาถ โดยกล่าวหาว่า เข้ามาจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานฯ และพี่น้องชาวเลราไวย์จำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีที่ชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับกุม และขอความชัดเจนรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เพื่อพี่น้องชาวเลจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และไม่ผิดกฎหมาย ถึงนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการรับเรื่องแทน เนื่องจากผู้ว่าฯ ติดภารกิจ
นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวถึงการนำชาวเลราไวย์ที่ถูกจับกุม และตัวแทนจำนวนหนึ่งมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่า จากการพูดคุยกับพี่น้องชาวเลที่ถูกจับกุมทั้ง 6 คน ซึ่งต่างยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุนั้นไม่ได้เข้าไปจับปลาในเขตอุทยานฯ ตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการทอดสมอเรือเพื่อให้หนึ่งในชาวเลที่ประสบกับปัญหาน้ำหนีบได้เบื้องต้น โดยปลาที่เห็นในเรือนั้นจับมาจากเขตทะเลในจังหวัดพังงา โดยใช้เหล็กแหลมยิงปลาเท่านั้น ส่วนชาวเลที่เห็นลงอยู่ในน้ำนั้น คนหนึ่งเพื่อรักษาอาการน้ำหนีบ ขณะที่อีก 2 คนลงอยู่ข้างเรือเพื่อทำธุระส่วนตัว แต่ทางเจ้าหน้าอุทยานฯ ไม่รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวทางเทศบาลฯ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นำท้องถิ่น จึงได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องชาวเลที่ถูกจับกุมดังกล่าว เพราะเมื่อเจอการดำเนินคดีก็มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ รวมทั้งจะต้องหาเงินมาประกันตัว ทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องการขอความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ซึ่งเห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติ เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติและจะได้ไม่ไปละเมิดกฎหมาย
ขณะที่ นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต อนุกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลจังหวัดภูเก็ต และเป็นหนึ่งในแกนนำชาวเลราไวย์ กล่าวว่า ต้องการมาขอความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุม และยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ต้องการละเมิดกฎหมาย และไม่ได้ต้องการทำลายทรัพยากร โดยการทำประมงนั้นก็เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น ดังนั้นในการต่อสู้คดีก็จะยึดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ซึ่งเห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล ซึ่งมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการฯ รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานฯ เป็นต้นได้ไปกำหนดขอบเขตและเครื่องมือในการทำประมงของชาวเล ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดให้ใช้เครื่องมือได้ 17 ชนิด แต่จะมีการกำหนดการใช้ในแต่ละพื้นที่ เช่น ในแหล่งท่องเที่ยวจะใช้ได้ 12 ชนิด เช่น เครื่องปั๊มลม หน้ากากสายยาง เหล็กยิง ปลาถังใส่ปลา เป็นต้น
ด้าน นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องเสนอผู้ว่าฯ เพื่อรับทราบ และจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนประเด็นในเรื่องของมติ ครม. นั้นก็จะต้องมีการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ทราบเพียงเบื้องต้นจากนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ เท่านั้น เมื่อทราบรายละเอียดแล้วจะได้แจ้งให้ทางผู้นำท้องถิ่นและชาวเลได้ทราบต่อไป