นายก อบจ.ภูเก็ต ร่วมเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตการพัฒนา รพ.ฉลอง”
นายก อบจ.ภูเก็ต ร่วมเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตการพัฒนา รพ.ฉลอง”
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 08.30 น. นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตการพัฒนาโรงพยาบาลฉลอง” ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานทางวิชาการ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ โรงพยาบาลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสุทธิรักษ์ ศรีจาด คณะทำงานนโยบายด้านสาธารณสุข อบจ.ภูเก็ต นพ.ชูชาติ นิจวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง นพ.ปฏิพล หอมหวล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง นพ.เกียรติศักดิ์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายสุรศักดิ์ รักญาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลฉลอง และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วม
โรงพยาบาลฉลอง เป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งที่ 4 ของจังหวัดภูเก็ต มีประวัติความเป็นมาเริ่มจากการบริจาคที่ดินของนายกาว อารีรอบ ในปี พ.ศ. 2483 นายคาว และนางล้วน ไกรทัศน์ ร่วมบริจาคเงินสร้างสุขศาลา จนพัฒนาเป็นสถานีอนามัยและสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติตามลำดับ จนถึงปี 2558 ได้มีการจัดสรรงบจากเงินบำรุงของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสร้างศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน ให้บริการประชาชน เพื่อเตรียมการเป็นโรงพยาบาลแห่งใหม่ของจังหวัดภูก็ต ได้เปิดดำเนินการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ฉลอง ราไวย์ และกะรน โดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในวันที่ 28 ธันวาคม 2558
วันที่ 26 มกราคม 2561 ได้รับอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลภายใต้ชื่อโรงพยาบาลฉลอง ต่อมาได้รับการประเมินจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นโรงพยาบาลระดับ F3 ขนาด 10 เตียง แยกออกจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงมาตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 ปี จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่โรงพยาบาลฉลองได้เปิดให้บริการประชาชนในจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลฉลองได้พัฒนาการเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จากการทำงานในการเรียนรู้สร้างสิ่งใหม่ๆ ของบุคลากรทุกฝ่าย รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เทศบาลตำบลฉลอง ตลอดจนภาคประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลฉลองได้รับการยกระดับให้เป็นโรงพยาบาลขนาด F2 ขนาด 30 เตียง ในวันที่ 8 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลได้มีมติเห็นชอบเลือกวันที่ได้รับอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุข คือวันที่ 26 มกราคม ให้เป็น “วันโรงพยาบาลฉลอง” กำหนดให้มีการจัดงานวันโรงพยาบาลฉลองทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับภาคประชาชนที่ป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการตั้งโรงพยาบาลฉลอง พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลในปีที่ผ่านมา นำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรมของทุกแผนกเพื่อพัฒนาคุณภาพงานบริการและความปลอดภัยของผู้ป่วย