นำ“พยัคฆ์ไพร”เข้าภูเก็ต เชือด“ซิปไลน์”รุกป่าสงวน
อธิบดีนำทีมชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจ “ซิปไลน์” รุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ พบมีการละเมิดเข้าพื้นที่ป่า เจ้าของกิจการอ้างเช่าที่ดิน ส.ค. 1 เดือนละ แสนสองดำเนินกิจการแต่ที่ดินมีพิรุธจะต้องตรวจสอบต่อไปถ้าพบบุกรุกเข้าทำประโยชน์ส่วนตนในเขตป่าสงวน แม้ไม่ได้ตัดต้นไม้ก็ผิด เตือนผู้ประกอบการ ให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินให้ดีเสียก่อนทำธุรกิจ เผยจากการปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ภูเก็ต พบรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศรุกพื้นที่ป่าสงวน 47 ราย
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร.25 พัน 2 คณะทำงานรักษาความสงบเรียบร้อย ชุดเฉพาะกิจ มทบ.44 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการตรวจสอบ การก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ ที่ผิดกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ
ภายหลังจากเกิดเหตุนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการเข้าไปใช้เครื่องเล่นดังกล่าวในจังหวัดเชียงใหม่ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจเครื่องเล่นซิปไลน์ทั่วประเทศ ซึ่งตรวจพบและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการไปแล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ จังหวัดระยอง 1 แห่ง ได้ดำเนินการรื้อถอนแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ 6 ราย ดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว จำนวน 2 ราย อีก 1 ราย อยู่ระหว่างการติดประกาศ ตามมาตรา25
สำหรับในจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯในเขตจังหวัดภูเก็ต เบื้องต้นพบการทำธุรกิจซิปไลน์ จำนวน 4 ราย 1 ราย อยู่ในพื้นที่กันออกจากป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ สปก. และอีก 3 ราย น่าจะผิดกฎหมายซึ่งจะมีการเข้าตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีต่อไป
โดยการเข้าปฏิบัติการครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 น.เศษ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ บนเทือกเขากมลา ซอยน้ำตกกะทู้ ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นการดำเนินการตรวจสอบการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ โดยมี นายสุรัญ โต๊ะพาน แสดงตัวเป็นเจ้าของเครื่องเล่นซิปไลน์ บนเทือกเขากมลาดังกล่าว และให้ละเอียดการเข้าใช้พื้นที่ ที่ใช้ประกอบการ โดยเช่าที่ดินจากผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 จ่ายค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท และยินดีที่จะรื้อถอนถ้าไม่ถูกต้อง
ขณะที่ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า สืบเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากธุรกิจซิปไลน์ในหลายพื้นที่ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.เชียงใหม่ ระยอง ที่ภูเก็ตก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ทราบมาว่ามีการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ ซึ่งได้รับข้อมูลในเบื้องต้นว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเครื่องเล่นดังกล่าว ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินตรงส่วนนี้ทางกรมป่าไม้จะต้องตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป
“กรณีรายนี้ อ้างว่ามี ส.ค.1 ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 96 มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ แต่จากการตรวจสอบพบว่าเข้าทำประโยชน์ มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ ก็จะต้องตรวจสอบต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจากข้อมูลในการรายงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส่วนเรื่องของเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ ทราบว่า รายนี้เคยมีการขอออกเอกสารสิทธิ์ แต่ขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการทางกฎกระทรวงฉบับที่ 43 จะต้องมีการลงนามรับรองของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กรณีนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการลงนาม จึงสงสัยและอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการป้องกันการบุกรุกของจังหวัดตรวจสอบเพื่อแปรภาพถ่ายทางอากาศอีกครั้ง”
นายชลธิศ กล่าวต่อว่า โดยข้อเท็จจริงในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ การเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ ต้องขออนุญาต เพราะฉะนั้นถ้าใครเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ แต่ไม่มีการขออนุญาตก็จะเป็นความผิดทุกฐาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัดถนน หรือสิ่งก่อสร้างใดๆ กรณีของซิปไลน์ แม้ว่าจะไม่มีการตัดต้นไม้ แต่เป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์ ที่แสวงหาผลประโยชน์โดยส่วนตน ก็ต้องมีการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดี ซึ่งทางกรมป่าไม้จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานสอบสวนต่อไป
ในส่วนของการดำเนินคดี ก็จะมีทั้งในความผิดทางแพ่งและอาญา อ้างว่ามีการเช่าต่อมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานการเช่ามาจากที่ดินที่มี ส.ค. 1 ทางกรมป่าไม้ก็ต้องคุยกับทางกรมที่ดินอีกครั้งว่า ส.ค.1 ที่ออกจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ขั้นตอนแรกต้องตรวจสอบก่อนว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบหรือไม่ ถ้าออกโดยมิชอบ ก็ต้องไปดูต่อไปว่าเมื่อออกโดยมิชอบ ยังมีการให้เช่าต่อไป เป็นเรื่องของเจตนาหรือไม่เจตนาก็คงจะต้องตรวจสอบในชั้นรายละเอียดต่อไป ขณะที่ผู้เช่ามีเจตนาที่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าของเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ฝากถึงผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจเครื่องเล่นซิปไลน์ ซึ่งวันนี้มีการแพร่กระจายไปในหลายที่ เราตรวจสอบแล้ว พบว่าบางแห่งมีความน่าเชื่อได้ว่าเอกสารสิทธิ์อาจจะไม่ชอบ หรืออาจจะมีเอกสารสิทธิ์บางส่วนและอาจมีการใช้ประโยชน์เอกสารสิทธิ์ ดังนั้นขอ ฝากเตือนผู้ประกอบการก่อนจะดำเนินการขอให้มีการตรวจสอบก่อน เพราะจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมจะให้การสนับสนุน สามารถที่จะติดต่อทางเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมที่ดิน หรือกรมปกครอง ได้ว่า เอกสารเหล่านี้มีความน่าชื่อถือมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะลงทุนดำเนินธุรกิจ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะตรวจสอบสืบค้นข้อมูลได้เพื่อให้แน่ใจว่าที่ดินเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร
นอกจากนั้น นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่าการดำเนินการเชิงรุกบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มธุรกิจรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ บุกรุกที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั่วประเทศประเทศ โดยปฏิบัติการดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตรวจสอบพบ รีสอร์ตบ้านพักตากอากาศ ที่มีการปลูกสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั่วประเทศ จำนวน 2,052 แห่ง พื้นที่รวม 20,949ไร่ แบ่งเป็น
1. พื้นที่มีเอกสารทางราชการ จำนวน 901 แห่ง
2.พื้นที่มีเอกสารทางราชการ แต่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 406 แห่ง
3.พื้นที่ที่ดำเนินคดีไปแล้ว 170 แห่ง และ
4. พื้นที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวน 522 แห่งในส่วนของพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบรีสอร์ตบ้านพักตากอากาศ ที่มีการปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 47 ราย
และจากการตรวจสอบพบว่า จำนวน10 รายน่าจะเป็นการกระทำผิดที่จัดอยู่ในประเภทของการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ประกอบกับเอกเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไปนอกจากนี้พื้นที่บางแปลงสามารถสรุปบันทึกเพื่อยื่นดำเนินคดีเสนอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวได้เลย เมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินกว่าหลายร้อยล้านบาท
“การปฏิบัติการเชิงรุก ในการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้สั่งการให้จัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษในการตรวจสอบเอกสารสิทธิขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติงานควบคู่กับชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร ในการดำเนินการตรวจสอบผู้กระทำผิดทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายจำนวนหลายร้อยแปลงทั่วประเทศในส่วนของ จังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมายหลายสิบแปลงพื้นที่กว่าหลายร้อยไร่ คิดเป็นมูลค่าที่ดินนับพันล้านบาท สำหรับในการลงพื้นที่ในการปฏิบัติการครั้งนี้จะเข้าดำเนินการตรวจสอบแปลงที่ดินที่ได้ข้อสรุปได้แล้วว่าออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พื้นที่ 20 ไร่เศษ คิดเป็นมูลค่าที่ดินหลายร้อยล้านบาท” นายชลธิศกล่าวในที่สุด