“บิ๊กโจ๊ก” เดินหน้ากวาดล้างทัวร์นอมินี 11 จุด สั่งเข้มดำเนินคดีตามกฎหมายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“บิ๊กโจ๊ก” เผยผลตรวจสอบเรือมรณะ “ฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง” ล่มกลางทะเลเฮ จ.ภูเก็ต วิเคราะห์ในเบื้องต้น เรือมีข้อบกพร่องไม่เหมาะนำออกทะเล แถมเสื้อชูชีพไม่ได้มาตรฐาน มอก.นำไปสู่การเสียชีวิตกว่า 40 ศพ ระบุจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน เชื่อได้ว่า เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง และเรือ “เซเรนาต้า” เข้าค่ายนอมินีทุนจีนเครือข่ายทรานลี่ ลั่นถอนรากถอนโคนนอมินีให้หมดไปจากประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.61 เวลา 17.00 น. ณ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมด้วย พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง., พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบช.สกบ., พล.ต.ต.ดำรัส วิริยะกุล รอง ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.ชลิต ถิ่นธานี รอง ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.ภูเก็ต, นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ อผ.กองคดี1 สนง.ปปง., พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง ผบก.ทท.3 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจและการค้า, กรมสรรพากร, ป่าไม้, สปก.กรมศุลกากร และ กรมเจ้าท่า ฯลฯ ร่วมแถลงข่าวการตรวจสอบปราบปรามการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่มีลักษณะและพฤติกรรม บริษัทชาวต่างชาติต้นทุนต่ำ หลังจากปฏิบัติการกวาดล้างนอมินีต่างชาติทำทัวร์ 11 จุด ในพื้นที่ภูเก็ตตลอดทั้งวันที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรือทั้งสองลำ
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กล่าวว่า การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงมาตรวจสอบในจ.ภูเก็ต เนื่องจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ทางตำรวจท่องเที่ยวประสานความร่วมมือกับ ปปง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความจริงให้ปรากฏและดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีที่เกิดเหตุเรือนำเที่ยวทั้งสองลำ คือ เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง และ เรือเซเรนาต้า ล่มที่เกาะเฮ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.61ที่ผ่านมา เพื่อปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในน่านน้ำอันดามัน ผลการปฏิบัติตรวจสอบและการตรวจค้นในครั้งนี้ สามารถตรวจยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ จำนวน 33 ชุด อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จำนวน 9 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค จำนวน 3 เครื่อง สินค้าที่นำเข้าโดยการเลี่ยงภาษี 50 รายการ จำนวนกว่า 1,000 ชิ้น เสื้อชูชีพที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 21 ตัว วิทยุเครื่องบอกพิกัดเรือ อย่างละ 1 เครื่อง
พร้อมจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย แจ้งข้อหาหลักๆ จำนวน 2 ข้อ คือ 1.ข้อหาบุกรุกป่าสงวน รุกล้ำป่าชายเลน และ 2. ข้อหาซื้อหรือรับไว้ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี ของต้องห้าม ต้องจำกัด หรือของที่ไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง อันมีเจตนา ฉ้อภาษีของรัฐ และซื้อหรือมีไว้ครอบครองสุราที่รู้ว่าต้องติดแสตมป์สุรา แต่มิได้ปิดแสตมป์สุราหรือปิดแสตมป์สุราไม่ครบถ้วน หรือมิได้ปิดแสตมป์สุราตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎกระทรวง
สำหรับ การตรวจสอบในส่วนของเรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง นั้นปรากฏว่ามี นางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล หรือ ยุ้ย เป็นผู้ดูแล ได้เปิดดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด มีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจเอกสารหลักฐานต่างๆ พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีสถานที่ตั้ง บริษัทเป็นหลักแหล่ง มีความชัดเจนว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการในรูปของบริษัท นำไปสู่การเป็นนอมินีอย่างยิ่ง และจากการตรวจสอบเอกสารทางด้านภาษีพบว่า น.ส.วรลักษณ์ เป็นลูกจ้างในบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้ในการยื่นจ่ายภาษี เพียงแค่ 500,000 บาท ในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เป็นเจ้าของบริษัทฯ เจ้าของ “เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง” ได้จะต้องมีเงินลงทุน ประมาณ 20 – 30 ล้านบาท ซึ่งจุดนี้ชี้ชัดว่ามีความผิดปกติ โดยจะต้องทำการตรวจสอบลึกลงไปอีกว่าเงินทุนได้มาอย่างไร และใครเป็นเจ้าของเงินทุนที่แท้จริงต่อไป
ส่วน “เรือเซเรนาต้า” นั้นเป็นเรือที่ บริษัท เลซี แคท ทราเวล จำกัด เช่ามาจาก บริษัท ทีซีจี ยอร์ช สิมิลัน จำกัด เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว โดยมี น.ส.อัญชลี วิทยานันทพรกุล ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่เป็น กรรมการผู้จัดการ โดยมี นายเผิง ตา ผิง ซึ่งเป็นคนจีนเป็นผู้ดูแล โดยเรือทั้งสองลำขายทัวร์แบบออนไลน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนจะแบบวันเดย์ทริป เมื่อเรือไปถึงเกาะก็จะต้องรีบออกมา เพื่อที่จะให้บริการในวันถัดไปจากข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ตรวจสอบได้ในขณะนี้ เชื่อได้ว่าดำเนินการในลักษณะของนอมินีเช่นเดียวกัน โดยให้คนไทยทั้งสองคนเป็นผู้ดำเนินการและดูแลธุรกิจที่ประเทศไทย
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บริษัท ทีซีจี ยอร์ช สิมิลัน จำกัด ซึ่งให้ทาง บริษัท เลซี แคท ทราเวล จำกัด เช่าเรือ โดยมี นายอิทธิ์โรจ ชวาลพิพัฒน์พงศ์ (นายช้าง) เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และยังมีข้อมูลระบุอีกว่า นายอิทธ์โรจ ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้จัดการให้กับ บริษัท ทรานลี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนอมินีของจีน ที่ได้ถูกดำเนินคดียึดทรัพย์ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อปี 2558 จึงทำให้เชื่อได้ว่าทั้งสามบริษัทนี้มีความเกี่ยวโยงและเข้าข่ายนอมินีชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจพบอีกว่า นายอิทธ์โรจ ได้บุกรุกป่าสงวน และ รุกล้ำป่าชายเลน ลงทุนสร้างบันไดทางลงวอเตอร์บีช จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกป่าไปแล้วในเบื้องต้น
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อถึง จากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปตรวจสอบอู่ต่อเรือธนวัฒน์ ตั้งอยู่ที่คานเรือสิกิต ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นคานที่ต่อ “เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง” เนื่องจากทางคณะทำงานทราบว่ามีการต่อเรือคู่แฝดของ “เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง” แต่เรือได้ถูกขนย้ายมาอยู่ที่แพแสงนอกได้มีการต่อแล้วประมาณ 70% จากการดูพิมพ์เขียวของเรือลำคู่แฝดจากผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อเรือ ทำให้ทราบว่าเรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง ไม่มีความสมบูรณ์ ไม่มีการทรงตัวที่ดีทุกสัดส่วนไม่สามารถที่จะนำเรือออกทะเลเพื่อให้นักท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมากๆไปท่องเที่ยวได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ประตู่ห้องเครื่องอยู่ชั้นล่างที่ท้องเรือ ซึ่งเป็นแบบที่ผิด เมื่อน้ำเข้าสู่ตัวเรือจะทำให้เครื่องยนต์ดับทันที
นอกจากนี้ ได้ทำการตรวจสอบเสื้อชูชีพ ปรากฏว่าพบเสื้อชูชีพที่ไม่ได้มาตรฐาน (มอก.) ซึ่งเป็นเสื้อชูชีพที่ผลิตในโรงงานที่ลพบุรี แต่ในฉลากระบุว่าผลิตที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการตรวจสอบข้อเท็จแล้ว จากปัญหาในส่วนของตัวเรือและเสื้อชูชีพที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงนำไปสู่ความสูญเสียมากกว่า 40 ศพ ในครั้งนี้ จึงอยากจะบอกถึงคนไทยที่เป็นนอมินีให้กับคนต่างชาติ ให้เลิกเสีย ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดให้ถึงที่สุด ในภูเก็ตนั้นเชื่อว่ายังมีอีกมากในเรื่องของนอมินี เมื่อมีการเก็บรวบรวมหลักฐานและได้กู้เรือขึ้นมาได้แล้ว ตนจะกลับมาดำเนินการกับนอมินีอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบในการปล่อยเรือ ตรวจเรือ ออกจากท่า หากตรวจสอบพบว่าบกพร่องในการทำหน้าที่ก็จะดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ทางด้าน นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผอ.กองคดี 1 สำนักงาน ปปง. กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายฟอกเงินแล้ว 1 ลำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทที่เคยถูกศาลพิพากษาและดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเส้นทางการเงินของคนเหล่านี้ มีการหมุนเวียนในฐานข้อมูลของ ปปง.กว่า 1,000 ล้านบาท พบว่าเส้นทางการเงินมีการเงินฉ้อฉล มีการกำหนดรูปแบบแผนประทุษกรรมในการหลบเลี่ยงมาตรการตรวจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะพบว่าเป็นนอมีนีมาตรการภาษี มาตรการเกี่ยวข้องกับกฎหมายปปง. แผนประทุษกรรมที่เกิดขึ้นเป็นแผนประทุษกรรมที่เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อน