ปรับภูมิทัศน์บ้านโบราณภูเก็ต ปลูกพันธุ์ไม้สีเหลืองบานสะพรั่ง
ภายหลังจากที่ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำโครงการภูเก็ตสวยด้วยมือและใจของเรา “Keep Phuket Clean by our hands and heart” โดยเน้นให้ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการให้เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหรือบ้านพักข้าราชการให้แก่ประชาชน และจากการปรับปรุงและตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่ความรับผิดชอบของธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตบริเวณถนนนริศร อ.เมืองภูเก็ต ทำให้เห็นความสวยงามของบ้านโบราณหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ขนาด 6 ไร่เศษ
สืบสาวราวเรื่องพบว่า บ้านหลังดังกล่าวอดีตเคยเป็นบ้านพักของผู้จัดการธนาคารชาร์เตอร์ด ซึ่งมีการขอเช่าพื้นที่ราชพัสดุเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา ในยุคของเหมืองแร่เจริญรุ่งเรือง และในสมัยนั้นท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง ได้ติดต่อให้ธนาคารชาร์เตอร์ดมาตั้งสาขาที่ภูเก็ต นับเป็นสาขาแรกในต่างจังหวัด และน่าจะรวมถึงการให้เช่าที่พัสดุเพื่อสร้างที่พักให้กับผู้จัดการธนาคารฯ ต่อมาเมื่อมีการคืนที่ดินกลับให้กับธนารักษ์ก็ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อะไร และเคยเปิดให้มีการประมูลเช่าพื้นที่ดังกล่าว เมื่อปี 2547 โดยผู้ที่ทำการประมูลได้ คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งมีการวางแผนว่าจะปรับปรุงให้เป็นสำนักงานและที่พักของพนักงาน แต่ด้วยเหตุใดไม่มีใครทราบได้มีการคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กับธนารักษ์เมื่อปี 2558 และถูกปล่อยรกร้างมากระทั่งปัจจุบัน
หลังจากที่มีการปรับพื้นที่ให้เห็นตัวบ้านดังกล่าวแล้ว ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เพราะคนส่วนหนึ่งไม่ทราบเลยว่า บนพื้นที่ 6 ไร่ดังกล่าว จะมีบ้านโบราณที่ยังคงสภาพเดิมและสวยงามตั้งอยู่ และมีการส่งต่อข้อความว่า ทางจังหวัดจะรื้อบ้านหลังดังกล่าวทิ้ง ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะในสื่อโซเซียล ด้วยมีความรู้สึกเสียดายบ้านเก่าโบราณซึ่งหาดูได้ยาก และไม่ต้องการให้ทุบทิ้ง
กระทั่งทางผู้ว่าฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการทุบบ้านหลังดังกล่าวทิ้ง แต่ต้องการปรับปรุงให้ดูดี และจะต้องขอศึกษาข้อมูลประวัติความเป็นมา จากนั้นก็จะได้ดำเนินการเพื่อรักษาบ้านหลังดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสาธารณะสมบัติของทุกคน และจากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีสีเหลือง อาทิ ต้นโกศล ต้นปอเทือง ต้นดาวเรือง เป็นต้น เพื่อให้บานสะพรั่งเหลืองอร่ามก่อนวันที่ 26 ตุลาคมนี้ และร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการปลูกต้นดาวเรืองเป็นรูปเลขเก้าไทยด้วย
อย่างไรก็ตามส่วนในระยะกลางนั้นคงต้องมีการหารือกับผู้รู้อีกครั้งในการที่จะเข้าไปซ่อมแซมตัวบ้าน เพื่อให้เกิดความสวยงาม และสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ โดยอาจจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นอาคารสาธารณะที่ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะอาคารลักษณะเช่นนี้ที่หลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของเอกชน ส่วนที่เป็นของราชการมีน้อยมาก ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นระยะนี้เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยรอบของตัวบ้าน และหวังว่าจะสามารถใช้เป็นอาคารสาธารณะในอนาคตต่อไป