ผอ.วชิระภูเก็ต เคลียร์ชัด 6 ข้อกล่าวหา กรณี 2 หมอภูเก็ต แจ้งความร้องเรียนการ “ป้องกันโควิด-19”
ผอ.วชิระภูเก็ต เคลียร์ชัด 6 ข้อกล่าวหา
กรณี 2 หมอภูเก็ต แจ้งความร้องเรียนการ “ป้องกันโควิด-19”
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. นายแพทย์ เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ นายแพทย์ ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวชี้แจงข้อกล่าวหา ในประเด็นหมอภูเก็ตแจ้งความเอาผิด ผอ.และ รอง ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการป้องกันโควิด – 19 ณ ห้องประชุมฉัตรฟ้า ชั้น 6 อาคารบ้านคุณพุ่ม รพ.วชิระภูเก็ต โดยมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการเตรียมความพร้อมแนวทางในการปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด –19 เนื่องจากขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อที่จะขอรับงบประมาณ จำนวน 16 ล้านบาท มาดำเนินการในการจัดทำห้องแยกผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
ส่วน นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้กล่าวถึง จากกรณีที่ถูกหมอภูเก็ตเข้าแจ้งความร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและความบกพร่องในการ “ป้องกันโควิด-19” และได้ทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน เนื่องจากประเด็นที่มีการแจ้งความเอาผิดตนและรอง ผอ. มีข้อกล่าวหา จำนวน 6 ประเด็น โดยก่อนที่จะมีการชี้แจงเป็นรายประเด็นนั้น
นายแพทย์เฉลิมพงษ์ ยังได้กล่าต่ออีกว่า ภูเก็ตมีศักยภาพในการปฏิบัติงาน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าระบบการรับมือการควบคุมโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับประเทศ พร้อมชี้ประเด็นแจ้งความทั้งหมดอาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ในส่วนของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้มีการเตรียมความพร้อมแนวทางการปฏิบัติงาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพในเรื่องของการแยกโรค ที่ได้มาตรฐาน ถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงการมีอุปกรณ์ป้องกันที่พอเพียงและมีคุณหมอที่มีความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นภารกิจของโรงพยาบาลศูนย์ คือโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มีการดำเนินการเช่นเดียวกับทุกจังหวัด ที่โรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดจะต้องเป็นแม่ข่าย ในการควบคุมโรค การดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยตามคำนิยามว่าจะติดเชื้อ โควิด-19
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ดำเนินการดูแลผู้เข้าข่ายตามคำนิยามร่วมกับโรงพยาบาลถลาง และโรงพยาบาลป่าตอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับแพทย์ทั้ง 2 ที่เข้าแจ้งความเนื่องจากมีความต้องการอยากจะให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ไปยังโรงพยาบาลถลาง ซึ่งหากมีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลถลาง ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนในพื้นที่อำเภอถลาง ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่สำคัญ จึงเป็นที่มาของการแจ้งความดังกล่าว
โดยก่อนหน้านั้นได้มีการส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้ว่าราชราชการจังหวัดภูเก็ต รวมถึงส่งจดหมายร้องเรียนดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้มีการออกมาตรการด่วน เพื่อดำเนินการแยกโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งยังได้ยกตัวอย่างโรงพยาบาลในต่างประเทศ ที่ได้มีการแยกผู้ป่วยโควิดออกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยแบ่งเป็นประเด็นสำคัญๆต่าง ๆ 6 ดังต่อไปนี้
สำหรับ ประเด็นที่ 1 ข้อเสนอที่ให้ผู้ต้องสงสัยโควิด-19 แยกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลถลาง ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีความพร้อมในด้านการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีห้องแยกที่พอเพียง ทั้งยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ต้องสงสัยโควิด-19 ในกรณีอาการรุนแรงได้ดีกว่า ซึ่งขณะนี้ทั้งสามโรงพยาบาลได้ช่วยกันรับเคส PUI และยังบริหารจัดการได้ดี และเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงหลายที่
ประเด็นที่ 2 การแจ้งความว่าไม่มีอุปกรณ์การป้องกันที่เพียงพอ ขอยืนยันว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตราย PPE มีให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างพอเพียงในทุกจุดที่ให้บริการ โดยมีการสนับสนุนกันระหว่างโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 11 ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ระหว่างกัน ทั้งนี้ในส่วนของบุคลากรมีการสวมใส่ชุดป้องกันตามลำดับ ความสำคัญของความเสี่ยง มีมาตรการการล้างมือทำความสะอาด ขอยืนยันว่าอุปกรณ์ต่างๆมีความพร้อม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ประเด็นที่ 3 มีการแจ้งความว่ามีการนำผู้ป่วยที่ต้องสงสัย จากเอกชน มาทำการรักษา ในห้องไอซียู อายุรกรรมรวม มีการใช้เคาน์เตอร์พยาบาลร่วมกัน ในประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า เคยมี เคสผู้ป่วยต้องสงสัยชาวจีน ซึ่ง ข้อมูล จริงๆ ผู้ป่วยเป็นโรค หัวใจล้มเหลว ซึ่งมีความจำเป็น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นมีความจำเป็นต้องมาเฝ้าสังเกตอาการ อยากได้ชีวิตที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จึงจำเป็นต้องให้เคสดังกล่าวเข้าไปอยู่ในห้องอายุรกรรมรวม ทั้งนี้ผลการตรวจผู้ป่วยดังกล่าวเป็นลบ ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเพียงเขตเดียวส่วนผู้ต้องสงสัยตามคำนิยามรายอื่นเข้าสู่ห้อง ที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ ณ ตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ประเด็นที่ 4 แจ้งว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัย โควิด-19 และยังไม่ได้ดำเนินการวินิจฉัยจนถึงที่สุดไปนอนรวมกับผู้ป่วยรายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ขอยืนยันว่าในประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง โดยผู้ป่วยที่ต้องสงสัย โควิด-19 ทุกรายจะเข้ารับการรักษาหน้าตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีห้องรองรับทั้งหมด 19 ห้อง ซึ่งมีห้องน้ำในตัว เครื่องใช้ต่างๆ มีการแยกและทำความสะอาด ผู้ที่จะเข้าไปสัมผัสบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ต้องมีการแต่งกายอย่างมิดชิดเพื่อป้องกัน เป็นไปตามมาตรฐาน และโรงพยาบาลไม่เคย ให้ผู้ป่วยที่มีนัยยะ ความเสี่ยง โควิด-19 ไปปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ
ประเด็นที่ 5 มีการแจ้งว่าไม่มีการตรวจเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ใกล้ชิดกับการควบคุมและรักษา โควิด-19 ในประเด็นนี้ ขอเรียนว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการเฝ้าระวังในเคส ของบุคลากรที่กลับจากต่างประเทศ ให้ดำเนินการกับตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน และในรายที่กลับมาและสัมผัสกับผู้ป่วยและมีอาการไข้ทุกราย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีการดำเนินการนำเสมหะ ในโพรงจมูก ไปดำเนินการตรวจสอบ วินิจฉัยโรค ดังนั้นขอยืนยันว่าโรงพยาบาลมีมาตรการในการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์อย่างสูงสุด และเป็นไปตามลำดับขั้นมีมาตรฐานที่มีความเหมาะสม ทั้งเรื่องของการสวมใส่ชุดป้องกันโรคการสวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดล้างมือ ดังนั้นในวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มีการตรวจบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 2,500 คน ไม่สามารถดำเนินการได้
ประเด็นที่ 6 มีการ แจ้งถึงกรณีไม่มีการจัดเตรียมสถานที่ รับผู้ป่วยฉุกเฉิน แยกจากผู้ป่วยที่ สงสัย โควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืน ในประเด็นนี้ขอเรียนว่า ทุกรายที่เข้ามาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จะมีกรณีที่ส่งมาจากโรงพยาบาลเอกชนหรือภายนอก โดยประสานผ่านมาทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการยืนยันว่าเหตุดังกล่าวต้องเฝ้าระวัง โควิด-19 โรงพยาบาลเมื่อได้รับแจ้งก็จะดำเนินการเตรียมห้องนัดตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีการนำผู้ต้องสงสัยดังกล่าวมาโดยรถพยาบาล และส่งไปยังตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปีทันทีโดยผู้ป่วยจะไม่ผ่านพื้นที่ ผู้ป่วยอื่นๆ หรือญาติของผู้ป่วยอื่นๆ
หลังจากทราบเรื่อง นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกแพทย์ที่เกี่ยวข้องเข้าพบในวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เรียกคุณหมอที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยในประเด็นที่คุณหมอเสนอให้โรงพยาบาลแห่งใหม่เป็นที่ใช้ควบคุมโรค เป็นรพ.อบจ และรพ.ถลาง ว่าเหมะสมหรือไม และเป็นไปได้หรือไม่ หลังจากได้มีการปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปตรงกันว่า ในภาวะที่เกิดโรคระบาดซึ่งทางรัฐบาลประกาศว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยต้องใช้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพเต็มที่นั้นก็คือ “รพ.วชิระภูเก็ต”
โดยให้เหตุผลว่า รพ.วชิระภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพ และความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีห้องแยกโรคและทีมดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงห้องแยกโรคความดันลบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในขณะนี้รพ.วชิระภูเก็ตมีการเตรียมห้องแยกโรคในระยะที่ 2 ไว้จำนวน 31 ห้อง รวมถึงที่ รพ.ถลาง และ รพ.ป่าตองอีกแห่ง 7 ห้อง และหากในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะส่งตัวไปรักษาที่ ห้องแยกโรคความดันลบICU อายุรกรรม
สำหรับผู้ป่วยที่เคยเข้าใช้ห้องแยกโรคความดันลบ นพ.เฉลิมพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีคนไข้ชาวจีนเพียงรายเดียวที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อมาผลตรวจออกมาเป็นลบ (ซึ่งเป็นการตอบในประเด็นร้องเรียนที่ 3) ส่วนผู้เฝ้าระวังรายอื่นให้อยู่ในห้องแยกโรคที่เตรียมไว้ภายในตึกรัตนโกสิน 200 ปี
โดยในระยะแรกผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นชาวจีน ซึ่งปัจจุบันในระยะนี้จะมีคนไทยเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเราต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ ใช้ห้องที่มีประสิทธิภาพ ในเรื่องของการแยกโรคได้ตามมาตรฐาน ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่มีพอเพียง มีคุณหมอที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะ โดยสรุปกับท่านผู้ว่าราชการว่า เป็นภารกิจของ รพ.ศูนย์วชิระภูเก็ต และทุกจังหวัดมีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน คือ ให้โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดในการเป็นแม่ข่ายเฝ้าระวังผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ และในปัจจุบัน รพ.วชิระภูเก็ต ก็ยังคงดูแลได้ตามมาตรฐาน และยังไม่จำเป็นต้องใช้ห้องแยกโรคที่สำรองไว้ในรพ.ป่าตองและถลาง
นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวอีกว่า ทางผู้ยื่นหนังสืออาจไม่พอใจที่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ว่าฯ และไม่เป็นไปตามต้องการในข้อเสนอแนะให้ย้ายคนไข้เฝ้าระวังทั้งหมดไปยังรพ.ถลาง “ทางเราได้ประมวลแล้วว่าหากย้ายไป ก็จะกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่รพ.ถลางอยู่ดี และพี่น้องประชาชนที่อยู่พื้นที่ถลางจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่สำคัญในการแจ้งความ ส่วนข้อกล่าวหาทั้ง 6 ประเด็นที่กล่าวมา ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง”
รพ.วชิระภูเก็ต ยืนยันว่า ทางรพ.ดำเนินการตามมาตรฐานสธ.โดยจะมีการกักตัวในรายที่มีไข้ด้วยมาตรการในการป้องกันสูงสุดตามระดับความเสี่ยง (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังทุกรายเป็นไปตามมาตรฐาน สธ.โดยไม่มีการสัมผัสกับบุคคลหรือสิ่งอื่นใด ในกรณีขนย้ายจากห้องเก็บเชื้อ หรือการนำส่งจากภายนอกเข้ามายังรพ.ฯ ในรายที่ยืนยันจากแพทย์ว่าเข้าข่ายเฝ้าระวัง พร้อมทั้งมีการเปิดศูนย์บริการคัดกรอง ให้คำปรึกษา และรักษา ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แก่ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีไข้สูง มีอาการทางระบบหายใจ เพื่อลดภาวะตื่นกลัวของพี่น้องประชาชน แต่คงไม่สามารถทำการตรวจบุคลากรของโรงพยาบาลหมดทั้ง 2,500 คนได้
ทั้งนี้ นายแพทย์เฉลิมพงษ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าระบบการรับมือ การควบคุม โควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับประเทศ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ประเด็นที่มีการแจ้งความอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ส่วนทางด้าน นายแพทย์ ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของตัวเลข ของผู้เข้าข่ายสงสัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น เนื่องจากเป็นการควบคุมโรคในระดับ 3 ซึ่งควบคุมตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลตัวเลขภาพรวมจะเป็นบทบาทของปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ได้รับมอบหมาย หากสื่อมวลชนหรือประชาชนมีความสงสัยสามารถสอบถามได้ จากกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข.-ต.005