ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ภูเก็ต เร่งติดตามการแก้ปัญหาโค้งหักศอกควนสะตอจุดเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก

ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ภูเก็ต

เร่งติดตามการแก้ปัญหาโค้งหักศอกควนสะตอจุดเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก

            วันนี้ (19 พ.ย.64) รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายกีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตร่วมกับ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ บริเวณโค้งควนสะตอ  เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากเส้นทางขึ้น-ลงเขา โค้งหักศอก และลาดชัน

           รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่าสืบเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ขอให้แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 4028 ตอนห้าแยกฉลอง-กะรน บริเวณทางโค้งควนสะตอ ซึ่งถนนเส้นทางดังกล่าวประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้ในการเดินทางสัญจรจากตำบลฉลอง ตำบลกะรน ไปยังตำบลป่าตอง ซึ่งช่องจราจรขาลงจากภูเขาถนนมีลักษณะเป็นทางโค้งหักศอกลาดชัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้ประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวที่สัญจรเส้นทางดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ หรือเหตุร้ายแรงถึงแก่ชีวิต โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายเจ้าหน้าที่สำนักสอบสวนที่รับผิดชอบลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณทางโค้งดังกล่าว ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต แขวงทางหลวงภูเก็ต หมวดทางหลวงราไวย์ และผู้ร้องเรียน เพื่อดูลักษณะภูมิประเทศ และความชันของทางโค้งควนสะตอ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุร่วมกัน พบว่ามูลเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางโค้งควนสะตอในช่องจราจรขาลงจากภูเขา เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และได้กำชับให้หน่วยงานเร่งแก้ไข โดยในระยะสั้นควรเร่งหาวิธีการลดความเร็วของยานพาหนะที่สัญจร จัดทำป้ายเตือนเพื่อลดอัตราการสูญเสียที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุบนเส้นทางดังกล่าว

           ในวันนี้จึงลงพื้นที่บริเวณโค้งควนสะตอติดตามผลการแก้ไขปัญหา กับนายสืบพงศ์ ไพศาลวัฒนา  ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต  และนายยศินทร์ ชนปทาธิป ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 17 พบว่ามีการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยแขวงทางหลวงภูเก็ตได้ดำเนินการปรับผิวจราจรด้วยการขูดไสผิวจราจรให้มีความหยาบเพื่อเพิ่มความฝืดของผิวจราจร (Anti skid) ลดการลื่นไถลของรถในช่องจราจรขาลงจากภูเขา ติดตั้งแนวกั้นแท่นปูนตลอดแนวทางโค้ง เพิ่มการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และดำเนินการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายเตือนให้ลดความเร็ว เพื่อเตือนให้ผู้สัญจรใช้ถนนให้เพิ่มความระวัดระวังในการขับขี่ให้มากขึ้น แต่ยังพบปัญหาเพิ่มเติมคือ ปัญหาดินทรุดตัวในช่องจราจรขาขึ้นภูเขา ทำให้ต้องเสียไป 1 ช่องจราจร

       หลังจากลงพื้นที่คณะทั้งหมดได้ร่วมประชุมกับผู้แทนจังหวัดภูเก็ต เพื่อระดมหาแนวทาง ขั้นตอน และงบประมาณ ในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้

1.ให้ดำเนินการเพิ่มเติมเป้าสะท้อนแสง (Reflector Target) และป้ายเตือนเส้นทางโค้งหักศอก และป้ายเตือนความชัน

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน พิจารณาแนวทางแก้ไขป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัญหาถนนที่ทรุดตัว เช่น ควรเข้มงวดในการตรวจจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุก รถทัวร์ท่องเที่ยว ที่น้ำหนักเกินพิกัด รวมถึงการหาเส้นทางอื่นๆ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวใช้สัญจรเป็นเส้นทางเบี่ยงก่อน  เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียถึงชีวิต