ผู้ว่าภูเก็ตพาสื่อภูเก็ต…เยี่ยมชมลงพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านลิพอนใต้

ผู้ว่าภูเก็ตพาสื่อภูเก็ต…เยี่ยมชมลงพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านลิพอนใต้

 


                 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนำสื่อมวลชน  ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ศึกษารูปแบบการพึ่งพาตนเองของชุมชน ในช่วงโควิด-19 สู่การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์

                 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นำสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ศึกษาการปรับตัวของชุมชนสู่การพัฒนาตนเองเป็นชุมชนเข้มแข็ง  โดยมี นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร, นายเฉลิมพล เกิดทรัพย์ กำนันบ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลศรีสุนทร ผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านในชุมชนร่วมให้การต้อนรับ

 


              นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าว ชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯจนประสบความสำเร็จ โดยอยากให้ชุมชนได้สานต่อกิจกรรมต่างๆ จนเกิดความยั่งยืน ดึงลูกหลานเข้ามาถ่ายทอดความรู้ จากรุ่น-สู่รุ่น ให้เยาวชนเกิดความรัก ความภูมิใจ และหวงแหนชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

              นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึง ในเรื่องเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชนเป็นเรื่องสำคัญที่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราเห็นว่าพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่ง ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางด้านท่องเที่ยวกระแสหลักโดยตรง ซึ่งวันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบชุมชน เรื่องการแปรรูป เรื่องของการเกษตร ต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่พี่น้องชาวบ้านระดับนี้ และกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร ถ้าเราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เค้าได้ก็จะทำให้ความเป็นอยู่ของเค้าดียิ่งๆขึ้น การมา ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ ณ ที่นี้เพื่อจะได้มีการขับเคลื่อนต่อไป นายณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

 


 

                ส่วนทางด้าน  นายเฉลิมพล เกิดทรัพย์ กำนันบ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า  “ลิพอนใต้สามัคคี สองวีรสตรี ของดีหลากหลาย สืบสานวัฒนธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นดินแดนแห่งความรักความสามัคคีและการพัฒนาประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน สมาชิกกลุ่มสตรีในตำบลศรีสุนทร โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ปัจจุบันทางศูนย์ฯมีสมาชิกกว่า 100 คน มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ดำ ปลูกข้าวไร่ และปลูกผักสวนครัว ส่งเสริมการแปรรูปอาหารพื้นบ้านเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งน้ำพริก ไตปลาแห้ง และ ปลาถ้ำ หรือปลากระป๋องพื้นเมือง เป็นโครงการที่เป็นจุดเด่น คือ โครงการ Farm From Home ผักสวนครัวร่วมพัฒน์ฯ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ได้เข้ามาให้ความรู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการปลูกผักไว้กินเอง ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายผลสู้โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

               ส่วนกิจกรรมในวันนี้ ชาวบ้าน “บ้านลิพอนใต้” ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้สื่อมวลชนได้ศึกษาดูงานหลากหลาย อาทิ การสาธิตการทำ ขนมอาโป้ง ขนมฟักทอง สาธิตการเพ้นท์ผ้า การจัดแสดงและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม, น้ำพริก, ไตปลาแห้ง พร้อมทั้งได้จัดเตรียมอาหารพื้นบ้าน เพื่อให้สื่อมวลชนได้ลิ้มลอง ได้แก่ แกงไก่บ้านมะพร้าวคั่ว, ต้มเคี่ยมปลาเค็ม, ปลาถ้ำ และ ข้าวยำ ทั้งนี้ ยังมีอีกกิจกรรมที่สำคัญ คือ ได้จัดแสดงภาคบันเทิง คือ การโชว์หนังปละตก หรือ หนังตะลุง เพื่อสร้างความบันเทิงและให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวบ้านลิพอนใต้ด้วย

 



สำหรับ ความเข้มแข็งของศูนย์พัฒนาชุมชนบ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ 5  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมกัน  ดังนี้.

  1. ร่วมอยู่ คือ ทำให้เกิดมีจิตสำนึกในตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ตนอยู่
  2. ร่วมกิน คือ การเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนและพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะวางแผนและดำเนินการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม
  3. ร่วมคิด คือ ร่วมกันคิดว่าอะไร คือปัญหาของชุมชน มีสาเหตุอย่างไร จะจัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาอะไรก่อนหลัง
  4. ร่วมทำ คือ จะต้องร่วมกิจกรรมด้วยความเต็มใจ เต็มกำลัง ร่วมติดตาม ร่วมตรวจสอบ
  5. ร่วมตัดสินใจ คือ จะต้องกล้าตัดสินใจติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการว่าเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
  6. ร่วมรับผลประโยชน์ คือ ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมของชุมชน ย่อมที่จะได้รับประโยชน์ในกิจกรรมนั้น ๆ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินวัตถุสิ่งของแต่อาจเป็นความสุขหรือพอใจความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น