ผู้ว่าฯประชุม“วัวหายล้อมคอก” ร่วงจากร่ม“พาราเซลลิ่ง”ดับ ไม่มีกฎหมายระบุหน่วยไหนดูแล
พ่อเมืองภูเก็ตเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและวางมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นเรือลากร่มหรือ “พาราเซลลิ่ง” หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวร่วงตกลงมากระแทกพื้นน้ำทะเลเสียชีวิตที่หน้าหาดกะตะ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือลากร่มให้หยุดการบริการไว้ชั่วคราวเข้าทำนอง “วัวหายล้อมคอก” สุดท้ายยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะไม่ได้บัญญัติไว้ให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบ และยังไม่มีกฎหมายควบคุม พบในพื้นที่ภูเก็ตมีผู้ประกอบการอยู่ตามชายหาดต่างๆ 52 รายเบื้องต้นประสาน ผู้เชี่ยวชาญพลร่มกองทัพภาคที่ 4 มาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ พร้อมตรวจสอบเครื่องเล่นว่าถ้ากฎหมายประกาศใช้ก็จะออกเป็นประกาศจังหวัด กำหนดคุณสมบัติผู้เล่น
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น เพื่อหารือแนวทางและการวางมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นเรือลากร่มหรือ “พาราเซลลิ่ง” ซึ่งเป็นกิจกรรมโลดโผนและตื่นเต้น ที่ให้บริการตามชายหาดต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต หลังจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ได้เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อ นายโรเจอร์ จอห์น หัสซี นักท่องเที่ยวสัญชาติออสเตรเลีย อายุ 71 ปี ได้ใช้บริการเรือลากร่ม และผลัดตกลงมาจากเครื่องเล่นหลังจากที่ขึ้นไปอยู่ที่ความสูงประมาณ 70 เมตร กระแทกผืนน้ำในทะเลบริเวณหน้าชายหาดกะตะ (ปากบาง) ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลป่าตอง
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุม นายนรภัทร กล่าวว่า การการประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังขาดความชัดเจนว่า กิจกรรมดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เนื่องจากกิจกรรมเรือลากร่มนั้นไม่ได้บรรจุไว้เป็นกีฬาตาม พ.ร.บ.กีฬา และไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายโยธาฯ แต่ในส่วนของเรือที่นำมาใช้นั้นจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต โดยจะต้องมีใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนถูกต้อง ส่วนคนควบคุมเรือก็จะต้องมีใบอนุญาตด้วย แต่ในขอบเขตความรับผิดชอบนั้นไม่ได้รวมในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมเรือลากร่ม
ดังนั้นจึงให้ทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคฯเชิญผู้ประกอบการเรือลากร่มทั้งหมดตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธา ท่องเที่ยวและกีฬา เจ้าท่าฯ เป็นต้น มาประชุมหาข้อสรุปเพื่อออกมาตรการในการควบคุมดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก ในวันที่14 ก.ค.60พร้อมกันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการเรือลากร่มให้หยุดการบริการไว้ชั่วคราว ส่วนกรณีของผู้ประกอบการที่ให้บริการแล้วเกิดเหตุนักท่องเที่ยวผลัดตกลงมาเสียชีวิตนั้นก็ให้ว่ากันไปตามกระบวนการของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบบริเวณชายหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต ตลอดแนวชายหาดป่าตองซึ่งมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีผู้ประกอบการเรือลากร่มให้บริการจำนวน 8 ราย ซึ่งตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา (13 ก.ค.60) ก่อนที่ทางจังหวัดภูเก็ตโดยสำนักงานเจ้าท่าฯ จะขอความร่วมมืองดให้บริการชั่วคราว พบว่า ยังคงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนยังคงใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในการให้บริการนั้นพบว่า จะมีการดูแลนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. บ่ายวันที่14 กรกฎาคม 2560 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหาเครื่องเล่นเรือลากร่ม โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต,นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต, ผู้ประกอบการ เครื่องเล่นเรือลากร่ม ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม
นายนรภัทร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต ตก เครื่องเล่นเรือลากร่ม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตได้ประชุมหารือเพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจากการพูดคุย ในที่ประชุม กับผู้ประกอบการเรือลากร่มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ เรือลากร่มที่เปิดให้บริการขณะนี้ยังขาดความเชี่ยวชาญ ขาดความรู้ความชำนาญในหลักวิชาการ ขาดทักษะในการให้บริการ ซึ่งการดำเนินการให้บริการเครื่องเล่นเรือลากร่มที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการโดยใช้ประสบการณ์การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น
ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว จังหวัดภูเก็ตได้ ประสานเชิญผู้เชี่ยวชาญพลร่มจากกองทัพภาคที่ 4 มาให้ความรู้กับผู้ประกอบการเรือลากร่มจังหวัดภูเก็ต ในวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2560 โดยจะอบรมให้ความรู้และตรวจสอบ อุปกรณ์เรือลากร่มให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ทั้ง 52 ราย ว่ามีความพร้อมในการใช้งานหรือไม่ โดยจะใช้สถานที่ ที่เทศบาลตำบลกะรน เวลา 10.00 น.ทั้งนี้ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทั้ง 52 รายจะต้องนำอุปกรณ์ ที่ใช้ในการให้บริการเรือลากร่มทั้งหมด ที่ใช้อยู่จริง มาให้ผู้เชี่ยวชาญจากกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาว่าอุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการใช้อยู่มีความเหมาะสม ในการที่จะ นำไปใช้ให้บริการเรือลากร่มหรือพาราเซลลิ่งหรือไม่ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง จะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนในมาตรการที่ 2 ที่จังหวัดจะเร่งดำเนินการคือ การบริหารจัดการของผู้ประกอบการเรือลากร่ม ได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการดำเนินการจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเรือลากร่มให้มีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ โดยควรจัดตั้งเป็นรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีการควบคุม กันเองมีการตรวจสอบกันเอง เช่น จังหวะในการปล่อยเรือ ความพร้อมของการให้บริการ การจัดลำดับการให้บริการ การดูแลความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ บนบก บนอากาศ หรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในน้ำ เพื่อให้การบริการ เรือลากร่มมีความปลอดภัย มีความสัมพันธ์กัน เพราะหากการปล่อยเรือลากร่มไปโดยไม่มีการสื่อสารที่ดี เช่นการปล่อยอุปกรณ์ออกไป โดยที่เครื่องมือยังไม่พร้อมจะทำให้เกิด อันตรายได้
และสุดท้ายแนวทางการแก้ปัญหาในมาตรการที่3 คือการให้ความสำคัญในเรื่องของเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการของเรือลากร่ม เช่น กำลังเครื่องยนต์ของเรือมีความเหมาะสมหรือไม่ เรือมีกำลังแรงเพียงพอในการที่จะลากเรือลากร่มหรือไม่ เพราะการให้บริการแต่ละครั้ง นักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการมีน้ำหนัก ไม่เท่ากัน บางคนมีน้ำหนักมากกว่า100 กิโลกรัม หรือแม้แต่ ภาวะของคลื่นลมในทะเลก็ส่งผล เป็นแรงเสียดทานของเรือลากร่มได้ ทั้งสิ้น
โดยในเรื่องนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตดำเนินการตรวจสอบเรือ ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางจังหวัดได้มีประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่องการจัดระเบียบมาตรการความปลอดภัยเรือ เรือเจ็ทสกี เรือลากร่ม หาดกะตะ กะรน เมื่อปี 2558 เพื่อเป็นการจัดระเบียบ ในเรื่องของการให้บริการเรือลากร่มเป็นการเบื้องต้นแล้ว
อย่างไรก็ตามสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งที่ผ่านมา พบว่าเรื่องของอุปกรณ์ วัสดุเครื่องมือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยทางจังหวัดจะเร่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ในเรื่องของกฎหมายควบคุมเรือลากร่มหรือ พาราเซลลิ่ง อยู่ในระหว่าง การเสนอกฎกระทรวง ดังนั้น เมื่อกฎหมายนี้ออกมาจะอยู่ในการบังคับใช้และทางจังหวัดจะสามารถออกประกาศจังหวัด กำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้ เช่นการออกมาตรการคุณสมบัติด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการ ผู้เล่น เป็นต้น เพราะหากผู้เล่นที่มีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ เมื่อเล่นเครื่องเล่นประเภทนี้ แล้วตกใจอาจจะส่งผลต่อการเล่น และเป็นอันตรายได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ผู้ใช้บริการ ผู้เล่น ทำหนังสือรับรองตนเองด้วย ว่าไม่มีโรคประจำตัวที่ห้ามเล่น หรือเป็นอุปสรรคต่อการเล่นกีฬาชนิดนี้ไว้ด้วย
นายนรภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการของผู้ประกอบการเรือลากร่มในขณะนี้ ยังคงขอความร่วมมืองดให้บริการอยู่ โดยขอให้ผู้ประกอบการนำเครื่องมือมาทำการตรวจสอบและเข้ารับการอบรมในวันจันทร์นี้ให้เสร็จสิ้นก่อน และจังหวัดภูเก็ตขอยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามจะหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 17 ก.ค.60 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทหารพลร่ม จากกองทัพภาคที่ 4 ได้ร่วมกันอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเรือลากร่มทุกชายหาดในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 52 ราย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการ หลังจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ได้เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นเมื่อ นายโรเจอร์ จอห์น หัสซี นักท่องเที่ยวสัญชาติออสเตรเลีย อายุ 71 ปี ได้ใช้บริการเรือลากร่ม และผลัดตกลงมาจากเครื่องเล่นเรือลากร่ม กระแทกผืนน้ำในทะเลบริเวณหน้าชายหาดกะตะ (ปากบาง) ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลป่าตอง
นายนรภัทร กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ตามหลักวิชาการแก่ผู้ประกอบการเรือลากร่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับการให้บริการที่ปลอดภัย ตลอดจนวิธีการตรวจสอบอุปกรณ์ และเรือที่นำมาใช้ให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ทางผู้เชี่ยวชาญยังได้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของกิจกรรมเรือลากร่มว่ามีสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ปลอดภัย และเหมาะสมในการนำมาใช้บริการหรือไม่ หากพบว่าไม่สมบูรณ์ก็จะให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความปลอดภัย 100%
อย่างไรก็ตามการอบรมให้ความรู้ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากมีนักท่องเที่ยวพลัดตกลงมาจากเครื่องเล่นเรือลากร่ม ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากนั้นทางจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เชิญผู้ประกอบมาร่วมประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการดังกล่าว รวมถึงการให้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการเรือลากร่มจะไม่ได้ผ่านการอบรมตามหลักวิชาการ แต่ส่วนใหญ่จะให้บริการในลักษณะของการใช้ประสบการณ์ที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมา จึงจำเป็นที่จะต้องมีการนำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในการให้บริการที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะกระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในภาพรวม และกระทบกับการให้บริการของผู้ประกอบการเองด้วย
ด้าน พ.ต.ประเสริฐ มีความมั่นใจเต็มที่และเชื่อมั่นว่า หากอุปกรณ์มีความพร้อมแล้ว กีฬาฟุตบอลยังเสี่ยงอันตรายกว่าการโดดร่มเสียอีก
“สำหรับการกิจกรรมเกี่ยวกับกระโดดร่มถ้าอุปกรณ์ต่างๆพร้อมจริงๆ ผมว่าการเล่นฟุตบอลยังดูอันตรายกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผมว่าน่าจะเกิดจากความประมาทของคนเช็ค ไม่น่าจะเกิดจากการที่อุปกรณ์ชำรุดหรือหมดอายุ อันนี้แค่ในความคิดผมนะ” พ.ต.ประเสริฐ กล่าว “สายรัดขาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก เพราะถ้ามันชำรุด คนก็ตกมาตาย แต่ถ้าอุปกรณ์อื่นชำรุดแทน ก็ยังคงมีโอกาสรอดเพราะตัวยังติดร่มแล้วร่อนลงมาได้”
พ.ต.ประเสริฐ ตั้งข้อสงสัยว่าจากการสังเกตเห็นจากในวิดีโอเหมือนสายที่ขาไม่ได้รัดเอาไว้ ทั้งยังตรวจสอบอุปกรณ์ตะขอร่มที่ผู้ตายใช้ขณะเล่นพาราเซลขณะเกิดเหตุ พบว่าผู้ประกอบการรายอื่นควรเพิ่มอุปกรณ์เสริม โดยเพิ่มตัวล็อคเชื่อมในระบบสลักเพื่อความแน่นหนาในการเปิดปิดตัวล็อค เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ
ด้าน นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวว่า วันนี้มีการเก็บข้อมูลผู้ประกอบการและทะเบียนเรือทั้งหมดบริเวณหาดกะรน กะตะ ราไวย์ในช่วงเช้าในการตรวจสอบสภากำลังเรือว่าเหมาะสมกับการลากร่มหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบผู้ประกอบการบริเวณหาดป่าตอง บางเทา และในหาน จะมีการเก็บข้อมูลในช่วงบ่ายวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่มีเวลากำหนดการในการตรวจสอบเรือที่ใช้ให้บริการ
และก่อนหน้าเมื่อวันที่ 13 ก.ค.60 ที่ห้องประชุมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมติดตามการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายนรภัทร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการวางมาตรการ ตรวจตราและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำตามชายหาดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้มีการว่าจ้างบริษัทผู้รับจ้างไลฟ์การ์ดตามชายหาดต่าง ในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวตามชายหาดต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ ซึ่งทางจังหวัดมีนโยบายในการขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดเพิ่มช่วงเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงเย็นอีก 1 ชั่วโมง ซึ่งปัญหานี้เนื่องจากทางบริษัทได้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตั้งแต่เช้าจนถึงเวลา 18.30 น. ซึ่งในช่วงรอยต่อจนถึงเวลา 19.30 ก็อาจให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล
นอกจากนี้ให้มีการตรวจความต้องการติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณชายหาดตามจุดเสี่ยงและให้มีเจ้าหน้าที่ได้มีการออกตรวจตราบริเวณชายหาด และให้ประสานกับส่วนราชการเกี่ยวข้องได้มีการออกตรวจตราบริเวณชายหาด และขอให้ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมชุดเผชิญเหตุและที่ตั้ง เมื่อมีการร้องขอก็สามารถออกไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวตามชายหาดต่างๆ ให้มีความพร้อมสูงสุด เนื่องจากในช่วงฤดูมรสุมมีคลื่นลมแรง แม้จะมีการปักธงแดงเตือน แต่ยังคงมีนักท่องเที่ยวบางคนยังฝ่าฝืนซึ่งอาจเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ยังให้เน้นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบโดยการทำป้ายหรือแจ้งเตือนตามบริษัททัวร์หรือตามสถานที่พักต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาต่อไป