ผู้ว่าฯภูเก็ต ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ภูเก็ต
ผู้ว่าฯภูเก็ต ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ภูเก็ต
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.00 น. ณ ห้องประชุมมุขหน้า ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้มีการประชุมการขาดแคลนแรงงานจังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ.2566 ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายดนัย สุนันทานารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต, ชมรมบริหารงานบุคลากรจังหวัดภูเก็ต, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต, จัดหางานจังหวัดภูเก็ต, แรงงานจังหวัดภูเก็ต, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต, อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการในสังกัด, สถานประกอบการ เข้าร่วมประชุม
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ส่วนระเบียบวาระการประชุม โดยทางกระทรวงแรงงานจังหวัดภูเก็ต สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานจังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ.2566 ครั้งที่ 2/2566 โดยมีวาระการประชุมหลักๆ 4 วาระ ประกอบด้วย
วาระที่ 1 เรื่องเป้าหมายของการประชุม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ ในประเด็นการร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานจังหวัดภูเก็ต
นายณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้มีความยินดีที่หน่วยงานหลักๆ ได้เข้ามาร่วมการประชุม ซึ่งทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนให้มีแรงงานเพื่อทำงานในสถานประกอบการจังหวัดภูเก็ต ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ทั้งการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นจุดเปลี่ยนของความต้องการด้านแรงงานมาทำงาน โดยเฉพาะในสาขาท่องเที่ยวและบริการ สถานการณ์ต่างๆ
ส่วนวาระที่ 2 รายงานการประชุม ครั้งที่ 1/2566 ที่ทางฝ่ายเลขานุการ ได้จัดทำบันทึกช่วยจดการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย
1. ข้อมูลด้านความต้องการแรงงานโดยเฉพาะที่สนับสนุนในภาคการท่องเที่ยว ที่รวบรวมโดยสำนักงานจัดหางานตามที่ผู้ประกอบการแจ้งมา พบว่ามีความขาดแคลนแรงงานอยู่ที่หลักประมาณ 3,800 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ การขาดแคลนในเชิงปริมาณ แก้ไขโดยการประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในจังหวัดภูเก็ต มาทำงานทั้งงานเต็มเวลาและงานพาร์ทไทม์ และ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือเฉพาะด้าน สามารถดำเนินการได้โดยการเข้าร่วมยกระดับการพัฒนาทักษะที่ Re-skillและUp-skill ณ สถาบันพัฒนาฝีมือ 21
ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานที่สนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดยังคงมีอยู่ จากปัจจัยที่ประเทศจีนเปิดให้คนจีนไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆได้ คาดการณ์ว่าจะมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตด้วยจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าการสำรวจตำแหน่งงานว่างอีกครั้ง และให้มีการอัพเดทอยู่เสมอ ว่าขาดเท่าไหร่ ทดแทนไปแล้วเท่าไหร่ ซึ่งประธานในที่ประชุมมอบหมายให้จัดทำรายงานข้อมูลการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เป็น Outcome จากมาตรการจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ส่งไปอบรมจำนวนกี่คน สำเร็จหลักสูตรแล้วจำนวนกี่คน ส่งเข้าทำงานแล้วจำนวนกี่คน ต้องการเพิ่มอีกจำนวนกี่คน รวมถึงการคาดการณ์ความขาดแคลนแรงงานจะหมดลงเมื่อไหร่
ดร.สำรวย มหาพราหมณ์ ผู้แทนจากวิทยาลัยเทคโนโลยี ไทย-เอเชีย และวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก(อี.เทค) เป็นวิทยาลัยที่ร่วมกับโครงการ 3 ม. กล่าวว่า (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) เป็นหนึ่งในโครงการของภาครัฐและกระทรวงแรงงาน เดินทางมาเข้าร่วมประชุม เพื่อจะจัดหาแรงงานจากกลุ่มเป้าหมายจากนักศึกษาในพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่กำลังจะจบแล้วเข้าสู่สถานประกอบการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวนหนึ่งมาทำงานในจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้รายละเอียดเรื่องการประกันรายได้ สวัสดิการ เพื่อจูงใจให้นักเรียนมาทำงานในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางวิทยาลัยฯจะติดตาม ดูแลการทำงานที่ควบคู่ไปกับการเรียนของเด็กจนจบการศึกษาตามโครงการ 3 ม. ประธานเน้นย้ำและขอความร่วมมือจากสถานประกอบกิจการต้องมีการแจ้งรายละเอียดของงาน สวัสดิการ เช่น เงินเดือน ที่พัก อาหาร รถรับส่ง ประกันสังคม เงินพิเศษ (เซอร์วิสชาร์จ ค่าคอมมิชชั่น) เพื่อเป็นการจูงใจให้คนเข้ามาทำงานในจังหวัดภูเก็ต
ส่วน นายนิติธ เทพบุตร ตัวแทนสมาคมสปา กล่าวถึง การแจ้งขาดแคลนแรงงานด้านนวด สปา จำนวน 500 คน ในขณะนี้ และภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีน เข้ามาอีกจำนวนมาก ต้องมีการเติมตำแหน่งงานว่าง อย่างน้อย 5,000 คน ซึ่งได้มีการหารือกับทางจัดหางานจังหวัดภูเก็ต และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ไปแล้ว
ทางด้าน นายชัยพร พงศ์อาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแอมคอล เทรนนิ่ง ภูเก็ต ได้กล่าวในส่วน การนำเสนอ หลักสูตรพาณิชย์นาวี ของโรงเรียนประชาสัมพันธ์หานักเรียนมาเรียนและหาคนทำงานที่มีทักษะอยู่แล้วมาทำงานบนเรือ
ส่วน นายธนพงศ์ อรชร กล่าวว่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูลการจ้างทำงานของเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังได้เชิญตัวแทนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการ ร่วมการสัมภาษณ์สดทางช่อง NBT วันที่ 3 กพ.66 เวลา 15.00-15.30 น. เมื่อที่ผ่านอีกด้วย
ส่วนในวาระที่ 3 คือ ความคืบหน้าการขับเคลื่อนให้มีแรงงานทำงานในสถานประกอบการจังหวัดภูเก็ต ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย
1.จัดการข้อมูลด้านกำลังแรงงาน ในจังหวัดภูเก็ต
2.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต
3.จัดหากำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ต
4.จัดหากำลังแรงงานภายนอกจังหวัดภูเก็ต
5.การฝึกทักษะอาชีพ (Up-skill,Re-skill)
6.กำกับดูแลให้ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด การส่งเสริม ให้ความรู้ ด้านพรบ.ประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
7.การประชาสัมพันธ์ ด้านกำลังแรงงานในจังหวัดภูเก็ต (ช่องทาง NBT)
8.จัดโครงการ/กิจกรรมกระทรวงแรงงานจังหวัดภูเก็ต พบ/บริการประชาชน(กรณีถ้าท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาจังหวัดภูเก็ต)
สรุปการดำเนินงานประกอบด้วย สำนักงานจัดหางานได้สรุปสถานการณ์ตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานจังหวัดภูเก็ต ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 และตำแหน่งงานว่างปัจจุบันที่สถานประกอบการแจ้งกับสำนักงานจัดหางานทั้งหมด 193 แห่ง 1,387 ตำแหน่ง 4,084 อัตรา ซึ่งได้รับการบรรจุงาน 110 แห่ง 442 ตำแหน่ง 1,207 อัตรา คือ มีนักศึกษาฝีกงาน 3,749 คน และ มีนักศึกษาพาร์ทไทม์ 345 คน ทั้งนี้ ทางสำนักงานจัดหางานยังได้สรุปสถานการณ์แรงงานจังหวัดภูเก็ต
ในส่วนมติที่ประชุม วาระที่ 4 เพื่อหารือและมีรายละเอียด ดังนี้.
1. จัดหากำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ต(เรื่องเพื่อหารือต่อเนื่อง) นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศภายหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิดฯ ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน 65 นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต เป็นจำนวนมาก หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีคนมาทำงานดูแลนักท่องเที่ยว เช่น ประสาน จัดหานักเรียน โดยการทำ MOU กับสถาบันทางการศึกษาในจังหวัดภูเก็ตให้นักเรียนมางานเป็นงาน pastime ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนไปได้ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีความต้องการคนมาทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจีนได้ประกาศให้คนในประเทศจีนออกมาท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาชีวศึกษา และ กศน.รวมถึงสถานประกอบการ และหน่วยงานอื่นๆ มาให้ข้อมูลของนักเรียนที่จะสามารถมาทำงานในสาขาต่างๆที่ขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ เพื่อจะได้นำไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อๆไป มีข้อเสนอเพื่อหารือ คือ “แนวทางการจัดหากำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ต”
2. เตรียมความพร้อมการจัดทำ workshop การบริหารกำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน ผู้แทนจากสถานประกอบ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแรงงานจังหวัดภูเก็ต ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยขอให้ทางกระทรวงแรงงาน จัดให้มีการ workshop ระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแรงงานจังหวัดภูเก็ต ในระยะยาวสามารถทำได้ตามนโยบาย “การผลิตกำลังคนของสถาบันทางการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ” โดยใช้โอกาสที่จังหวัดเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาและสถาบันทางด้านวิชาการของจังหวัดภูเก็ต อาทิ มอ. ภูเก็ต เป็นกลไกในการขับเคลื่อน “การบริหารกำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน” ไปพร้อมๆกับการดำเนินงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัด ทั้งนี้มีข้อเสนอเพื่อหารือ เพื่อรวบรวมประเด็นเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน ซึ่งเห็นสมควรการจัดทำ workshop การบริหารกำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน และ การจัดทำข้อมูลในประเด็นใด เพื่อประกอบการ workshop และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดบ้างที่ต้องเข้าร่วมการจัดทำ workshop เพื่อร่วมการระดมความเห็น มุ่งสู่การบริหารกำลังแรงงานภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน รวมถึงกำหนดช่วงเวลาและสถานที่การดำเนินโครงการ