ผู้ว่าฯ กังวลน้ำไม่พอบริโภค แต่ผลวิจัย มอ.บอกไม่วิกฤต

         พ่อเมืองประชุม คณะทำงานจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำบริโภคน้ำต้นทุนเมืองภูเก็ต เน้นนโยบายบริหารจัดการแหล่งน้ำ ซ่อม สร้าง และเสริม แหล่งจัดเก็บน้ำ เพื่อให้ภูเก็ตมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมนักท่องเที่ยว และประชากรแฝงปีละกว่า 3 ล้านคน มอ.ภูเก็ตเผยผลการวิจัยแหล่งน้ำเบื้องต้นภูเก็ตไม่วิกฤต แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี

         เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุม คณะทำงานจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำบริโภคน้ำต้นทุนจังหวัดภูเก็ต ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารคอซิมบี้ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

         นายนรภัทร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำบริโภคน้ำต้นทุนจังหวัดภูเก็ตเป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการทำงานเพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ ในการรองรับประชาชนตามทะเบียนราษฎร์ ที่มีประมาณ 390,000 คน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยว และประชากรแฝงปีละประมาณ 13 ล้านคน

         “จังหวัดภูเก็ต มีนโยบายในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เน้นการ ซ่อม สร้าง และการเสริม คือ การซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถจัดเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การสร้างคือ การหาพื้นที่ เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนและการเสริมคือ การปรับปรุงพื้นที่แหล่งต้นน้ำที่มีอยู่ ให้มีศักยภาพสามารถจัดเก็บน้ำ และชะลอน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ จะสร้างฝายเพื่อการชะลอน้ำ เป็นต้น”

         นายนรภัทร กล่าวด้วยว่า สำหรับในส่วนของการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในการบริหารจัดการน้ำ ขอให้ทุกส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นรูปธรรมทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการสำรวจขุมเหมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ว่ามีทั้งหมดเท่าไร ซึ่งอาจจะนำพื้นที่ ขุมเหมืองเหล่านั้นมาใช้ ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำหรือทำเป็นแก้มลิงให้กับจังหวัดภูเก็ต และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสรุปปัญหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำกินน้ำใช้ของท้องถิ่นตนเองมาให้ทางจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ขอให้เรียงลำดับตามความสำคัญของโครงการ แล้วนำเสนอต่อจังหวัดภูเก็ตด้วย

         ตัวแทนของทางการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวชี้แจงสถานการณ์น้ำของภูเก็ตสรุปได้ ว่า สถานการณ์น้ำดิบของภูเก็ตนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะหน้าแล้ง แหล่งน้ำสำคัญที่นำมาผลิตน้ำประปาจะได้จากเขื่อนบางวาดเป็นหลัก   และจะมีน้ำจากเขื่อนบางเหนียวดำมาช่วยเสริม นอกจากนี้ก็จะมีการซื้อน้ำจากขุมเหมืองของภาคเอกชน และน้ำอาร์โอ (นำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืด) แต่บางครั้งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งแผนงานในการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คือการซื้อน้ำจากขุมน้ำเอกชนมาผลิตน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชน ส่วนระยะกลางจะมีการซื้อน้ำจากเอกชน ซึ่งมีการจัดสร้างโรงงานเพื่อผลิตน้ำมาจำหน่ายให้กับการประปาส่วนภูมิภาคฯ และระยะยาว 10 ปี จากแนวคิดที่จะนำน้ำดิบมาจากเขื่อนรัชประปาก็เป็นเรื่องยาก และทราบว่าโครงการดังกล่าวได้ชะลอไป โดยมีการทำโครงการซื้อน้ำสำเร็จจากเอกชนที่ จ.พังงาแทน  โดยอยู่ระหว่างการของบประมาณในการจัดวางท่อ และจากการออกแบบจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,500 กว่าล้านบาท  โดยคาดว่าจะขอใช้งบประมาณปี 2561

         อย่างไรก็ตาม ทางตัวแทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัย ฯ ได้มีการทำโครงการศึกษาวิจัยแหล่งน้ำของภูเก็ต  โดยเฉพาะในส่วนของขุมเมืองต่างๆ จากข้อมูลที่มีการศึกษาเพิ่มเติมเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีขุมเหมืองทั้งหมด 111  แห่ง อยู่ในพื้นที่ อ.ถลาง 47 แห่ง พื้นที่ อ.กะทู้ 23 แห่ง และ อ.เมือง 41 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว ทางการประปาส่วนภูมิภาคฯ ได้นำไปใช้แล้ว 15 แห่ง นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งโทรมาตรเพื่อวัดปริมาตรน้ำแต่ละขุม ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณน้ำในแต่ละขุมได้อย่างชัดเจน และสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อการศึกษาแล้วเสร็จก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมามอบให้กับทางจังหวัดต่อไป ทั้งนี้จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับพบว่าน้ำภูเก็ตไม่ได้วิกฤต เพียงแต่เรายังขาดการบริหารจัดการที่ดี