ผู้แทน 16 องค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ ถึงจุดยืนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ที่จะต้องเน้นการแก้ปัญหาการจราจร พร้อมกับการสอดคล้องกับความต้องการของเมือง และรองรับงาน Word Specialised Expo 2028
ผู้แทน 16 องค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ ถึงจุดยืนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ที่จะต้องเน้นการแก้ปัญหาการจราจร พร้อมกับการสอดคล้องกับความต้องการของเมือง และรองรับงาน Word Specialised Expo 2028
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และผู้แทนจาก 16 องค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงจุดยืนของภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ มติ กรอ.จังหวัดภูเก็ต ในเรื่องข้อสรุปรถไฟฟ้ารางเบา หลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ในการประชุมจะมีการนำเสนอข้อมูลที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน Word Specialize Expo 2028 โดยเลือกใช้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งมีเงื่อนไขการจัดงานจะต้องดูองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งพื้นที่จัดงาน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยสามารถรองรับการจัดงานระดับโลก
ดังนั้น จังหวัดภูเก็ตได้วางแผนการจัดงานโดยใช้พื้นที่ตำบลไม้ขาว ที่เป็นศูนย์สุขภาพอันดามันเป็นพื้นที่จัดงาน ส่วนระบบการขนส่งรถไฟรางเบา ถือเป็นโครงการที่ดีและจะเกิดประโยชน์กับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก
ด้าน นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแถลงจุดยืนของ 16 องค์กรเอกชนในวันนี้ เพื่อต้องการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต ให้สอดคล้องกับความต้องการของเมือง การขอยื่น 3 ข้อ ตามมติของ 16 องค์กร คือ 1. ขอให้ดําเนินงานก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง จำนวน 21 สถานี ระยะทาง 42 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จตามกำหนดที่ประกาศไว้ คือในเดือนธันวาคม 2569 โดยไม่ต้องมีการบูรณาการร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ก่อนการก่อสร้างถนนสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้
2. คือการคัดเลือกประเภทของระบบ ที่ภาคเอกชนทั้งหมด ยืนยันตามมติของกรอ.จังหวัดภูเก็ต ที่มาโดยตลอด ว่า จังหวัดภูเก็ตมีความต้องการรถไฟฟ้าชนิดล้อเหล็ก เนื่องจากเป็นประเภทที่มีผู้ผลิตมาแล้วหลายประเทศและมีหลายบริษัทรองรับ ซึ่งมีประสบการณ์กับการดำเนินการมาแล้วทั่วโลก และจากการศึกษาพบว่ามีความเหมาะสมกับจังหวัดภูเก็ต แต่หาก รฟม. ต้องการมติของภาคเอกชน ในการเลือกระบบรถไฟฟ้าขอให้มานำเสนอข้อมูลให้มากกว่าทีนำเสนอก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะขอให้แจงถึงข้อดี ข้อด้อยทางเทคนิค เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน แต่หาก รฟม.จะตัดสินใจเลือกระบบรถไฟฟ้าเองทั้งหมด ก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัที่สามารถตัดสินใจได้เลย
และ 3. คือเรื่องที่เสนอให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน Word Specialize Expo ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2571 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า นั้น จังหวัดภูเก็ตอยากให้มีรถไฟฟ้าเฟส 2 ที่ดำเนินการไปพร้อมกับเฟสแรก เพื่อให้ทันใช้งานในธันวาคม 2569 ตามแผนเดิมที่มีมติ ครม. มาแล้วเมื่อปี 2563 ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา จะเป็นประโยชน์ต่อเนื่อง ทั้งการรองรับการลงทุนและการจัดงาน Word Specialize Expo ตั้งแต่หัวเกาะไปจนสถานีท่านุ่น จังหวัดพังงา พร้อมกับมีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะเปิดในช่วงเวลาเดียวกัน จะยิ่งทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะคาดว่ารายได้ที่เกิดจากงาน Word Specialize Expo จะมีมากกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และ 16 องค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ในคราวประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ต่อไป